นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัววันนี้ (25 มี.ค.) ว่า ได้รับรายงานจากนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าที่ประชุมคณะกรรมการ อย.ได้อนุมัติขึ้นทะเบียน วัคซีนโควิด-19 ของบริษัท จอห์นสันแอนจอห์นสัน แล้ว เป็นวัคซีนตัวที่สามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในประเทศไทย ต่อจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนโคโรนาแวค แต่ยังต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
"ขณะนี้ วัคซีนทั้ง 3 รายที่ขอขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ครบทั้ง 3ราย คือ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย ไม่ได้ปิดกั้นการขึ้นทะเบียนและใช้วัคซีนในประเทศไทย ขอเชิญชวนให้ผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ มาขึ้นทะเบียน เพื่อนำมาใช้ในประเทศไทย ให้คนไทยได้มีทางเลือกในการรับวัคซีนมากขึ้น" นายอนุทินกล่าว
ด้านนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีหน้าที่ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ได้อำนวยความสะดวก และเปิดช่องทางพิเศษในการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน เพื่อให้สามารถอนุมัติทะเบียนได้อย่างรวดเร็วนั้น
ล่าสุดวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่มายื่นขอขึ้นทะเบียนได้รับอนุมัติทะเบียนจาก อย. แล้วเป็นรายที่ 3 ต่อจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับอนุมัติทะเบียนไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 และวัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งได้รับอนุมัติทะเบียนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี ประเทศอินเดีย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารแบบต่อเนื่อง หรือ rolling submission และสำหรับวัคซีนอื่น ๆ ได้แก่ วัคซีนโมเดอร์นา ของประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ ของประเทศรัสเซีย และวัคซีน ซิโนฟาร์ม ของประเทศจีน ได้มีการเข้าหารือกับ อย. เพื่อเตรียมการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว
เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ผู้รับอนุญาตนำเข้ายา หรือผู้รับอนุญาตที่เป็นโรงพยาบาลเอกชน หรือ ภาคเอกชนอื่น ที่สนใจยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นเอกสารเพื่อขอประเมินคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของวัคซีน อย. พร้อมอำนวยความสะดวก โดยได้ระดมผู้เชี่ยวชาญจากภายในและภายนอก อย. มาร่วมพิจารณา ถ้ายื่นเอกสารครบถ้วนตามที่กำหนดจะใช้เวลาในการประเมินและพิจารณาอนุญาตประมาณ 30 วัน โดย อย. คำนึงถึงคุณภาพความปลอดภัยของวัคซีนตามมาตรฐานสากลเป็นสำคัญ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มีความแตกต่างจากวัคซีนของผู้ผลิตรายอื่น เนื่องจากใช้ฉีดเพียงเข็มเดียว ไม่ต้องฉีดถึง 2 เข็มเหมือนวัคซีนโควิดทั่วไป สำหรับราคาอยู่ที่โดสละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามราคาที่ควบคุมขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
WHO ไฟเขียวแล้ว! วัคซีนต้านโควิดแบบฉีดเข็มเดียวของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
FDA อนุมัติแล้ว! วัคซีนต้านโควิดของ J&J แบบฉีดเข็มเดียวอยู่หมัด
"อนุทิน" ยันไม่ผูกขาดวัคซีนสั่งจอห์นสันแอนด์จอห์นสันส่งข้อเสนอ-ราคาให้พิจารณา