อัพเดท 4 ผลศึกษาต้องรู้เกี่ยวกับโควิด-19

06 เม.ย. 2564 | 10:24 น.

6 เม.ย.64 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงาน 4 ผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือการระบาดของเชื้อโควิดจากสถานบันเทิงที่กระจายได้ไวราวไฟลามทุ่ง เรามาดูกันว่าที่เหลือนอกนั้น มีเรื่องอะไรกันบ้าง

ปาร์ตี้ที่บาร์แห่งเดียวในรัฐอิลลินอยส์เชื่อมโยงผู้ติดเชื้อโควิด 46 ราย

การจัดงานเลี้ยงฉลอง (ซึ่งเป็นงานแบบปิด จัดเป็นการส่วนตัว) ที่บาร์แห่งหนึ่งในย่านชานเมือง มลรัฐอิลลินอยส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นำไปสู่การติดเชื้อใหม่ 46 ราย และยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกเป็นจำนวนมากในวงกว้าง

การศึกษาซึ่งมุ่งเน้นทำความเข้าใจมาตรการเชิงป้องกันและเรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อชุมชนของการจัดงานหรือกิจกรรมในลักษณะนี้ พบว่า ในวันเกิดเหตุมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไปร่วมงานเลี้ยงจำนวน 4 ราย หลังจากนั้นก็มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับการจัดงานเลี้ยงดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 46 ราย เป็นนักเที่ยว 26 ราย เป็นพนักงานทำงานที่บาร์ 3 ราย และที่เหลือ 17 รายเป็นผู้สัมผัสบุคคลเหล่านั้น

ข้อมูลจากรายงานการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตรายสัปดาห์เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (5 เม.ย.) โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) เปิดเผยว่า ในจำนวนผู้สัมผัสที่ติดเชื้อมาด้วยในที่สุดนั้นมีกลุ่มวัยเด็กรวมอยู่ด้วย

สิ่งแวดล้อมในบาร์นั้นยากต่อการสวมใส่หน้ากากและรักษาระยะห่าง

“การแพร่กระจายเชื้อที่เกี่ยวเนื่องกับงานเลี้ยงดังกล่าวทำให้ต้องมีการปิดชั่วคราวโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งส่งผลต่อเด็กนักเรียน 650 คน” รายงานชิ้นนี้ระบุว่า ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นว่า การเปิดสถานบันเทิงประเภทบาร์ ซึ่งสิ่งแวดล้อมทำให้ยากต่อการสวมใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในชุมชน

ผู้ประกอบการธุรกิจจึงควรจะต้องร่วมมือใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการสนับสนุนและส่งเสริมพฤติกรรมและรักษาสภาพแวดล้อมที่จะลดความเสี่ยง (ไม่ใช่เพิ่ม) การแพร่ระบาด ผู้ประกอบการธุรกิจต้องมีบทบาทนำในการเปิดบริการอย่างปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 สู่ชุมชน ซึ่งการเปิดบริการอย่างปลอดภัยนั้นครอบคลุมถึงการจัดสถานที่และมีขั้นตอนดำเนินการที่เหมาะสม (อ่านเพิ่มเติม Community Transmission of SARS-CoV-2 Associated with a Local Bar Opening Event — Illinois, February 2021 )

 

ผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนแล้วช่วยป้องกันเด็ก ๆที่ยังไม่ได้ฉีด จากโควิดได้

ข้อมูลใหม่จาก อิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับประชาชนมากกว่าครึ่งประเทศแล้ว (โดยเป็นวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ที่ร่วมวิจัยกับบริษัท บิออนเทค) ชี้ว่า การฉีดวัคซีนให้กับประชากรวัยผู้ใหญ่ มีแนวโน้มที่จะช่วยปกป้องคนรอบตัวเขาในวัยเด็กกว่า ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนไปด้วยในตัว   

ประมาณ 1 ใน 3 ของสมาชิกหน่วยสาธารณสุขแมคคาบี (Maccabi Healthcare Services :MHS) 1.95 ล้านคน ซึ่งทุกคนมีอายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป เป็นผู้ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว และในการวิเคราะห์ข้อมูลจากสมาชิก MHS ใน 223 ชุมชนทั่วประเทศ นักวิจัยพบว่า ยิ่งจำนวนประชากรวัยผู้ใหญ่ได้รับวัคซีน มีเพิ่มมากขึ้น อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในชุมชนเดียวกันนั้น ก็ยิ่งลดน้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรวัยเด็ก

นักวิจัยกล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นแนวโน้มที่ดีเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด แต่ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าข้อมูลที่ได้นี้จะช่วยสนับสนุน การสร้างภูมิคุ้มกันแบบหมู่ (herd immunity) ได้หรือไม่และอย่างไรและจะมีส่วนช่วยกำจัดโรคติดต่อนี้ได้อย่างไร  (อ่านเพิ่มเติม SARS-CoV-2 infection risk among unvaccinated is negatively associated with community-level vaccination rates )

 

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart disease) ไม่ได้ทำให้อาการโควิดรุนแรงมากขึ้น

ผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่เป็น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart disease)ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะมีอาการโควิด-19 รุนแรงมากกว่าบุคคลอื่น ๆ โดยทั่วไป และไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะเสียชีวิตจากโควิดมากกว่าคนทั่วไป

ผลการศึกษาวิจัยผู้ป่วยโควิดที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดด้วยจำนวน 1,044 คน พบว่า แม้ผู้มีอาการโรคหัวใจที่ซับซ้อน ก็ไม่ได้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการเป็นผู้ป่วยโควิด ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงโดยทั่วไปของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทำให้อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นคือ การเป็นผู้สูงวัย การเป็นผู้ป่วยเพศชายที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจล้มเหลว  การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ เป็นโรคไต เบาหวาน และมีปัญหาทางเดินหายใจต้องได้รับออกซิเจนก่อนที่จะติดเชื้อโควิด-19 เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติม COVID-19 in Adults With Congenital Heart Disease)

 

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันที่เป็นโควิดเสี่ยงมีอาการรุนแรงมากขึ้น

เป็นเรื่องน่ากังวลที่ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ต้องถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลเพราะมี อาการหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก (Stroke) นั้น หากเขาเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ด้วยแล้ว เขามีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากยิ่งขึ้น หรือหากไม่เสียชีวิต พวกเขาก็มีโอกาสที่จะมีอาการที่รุนแรงขึ้น

โควิดอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบ

รายงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Stroke ระบุว่า จากการศึกษาในผู้ป่วยจำนวนเกือบ 42,000 คนที่ถูกส่งมายังโรงพยาบาลด้วยอาการหลอดเลือดสมองอุดตันจำนวน 458 แห่งทั่วโลก และประมาณ 3% ของผู้ป่วยเหล่านี้มีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นบวก ผลการศึกษาพบว่า ถึงแม้ว่าพวกเขาจะถูกส่งตัวมาถึงโรงพยาบาลในเวลารวดเร็วพอ ๆกับผู้ป่วยอื่น ๆ แต่เมื่อถึงโรงพยาบาลแล้วพวกเขากลับได้รับกระบวนการรักษาที่ช้ากว่า ซึ่งดร. เกร็ก โฟนาโรว์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในลอสแองเจลิส ให้ความเห็นว่า เป็นไปได้ที่ความล่าช้านี้ เกิดจากการที่แพทย์และพยาบาลต้องเตรียมหรือต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด-19 หรือมีขั้นตอนเชิงป้องกันมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป ทำให้ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบที่เป็นโควิดด้วยอาจได้รับการสลายลิ่มเลือดที่อุดตัน หรือรับการรักษาเปิดช่องทางไหลเวียนโลหิต ล่าช้าเกินไป จึงจำเป็นที่สถานรักษาพยาบาลจะต้องมีขั้นตอนหรือกระบวนการที่จะจัดการรองรับผู้ป่วยกรณีดังกล่าวให้รวดเร็วฉับไวมากยิ่งขึ้นโดยที่ไม่ทำให้บุคลกรทางการแพทย์ต้องเสี่ยงหรือไม่ได้รับการปกป้องในขณะเดียวกัน (อ่านเพิ่มเติม Acute Ischemic Stroke in Patients With COVID-19)