"หมอยง" แจ้ง โควิด-19 ทองหล่อ เป็นสายพันธุ์อังกฤษ รอยืนยัน

07 เม.ย. 2564 | 08:41 น.

ศูนย์เชี่ยวชาญฯ คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ ตรวจสอบเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พบในสถานบันเทิง เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติถึง 1.7 เท่า

นพ.ยง ภู่วรวรรณ โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คว่า สายพันธุ์ที่ระบาดที่สถานบันเทิง จากการตรวจเบื้องต้นเป็น #สายพันธุ์อังกฤษ รอการยืนยันด้วยการถอดรหัส ซึ่งขณะนี้ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการตรวจพันธุกรรม SARS -CoV-2 จากตัวอย่าง บางแค และทองหล่อ ด้วยวิธี Specific probe Real Time RT-PCR เพื่อแยกสายพันธุ์อังกฤษ กับสายพันธุ์ปกติ (Wild type)

ผลการตรวจสอบแสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์ที่พบในการระบาดจากสถานบันเทิงที่ทองหล่อ เป็นเชื้อโควิด -19 สายพันธุ์อังกฤษ เป็นโควิดกลายพันธุ์ ที่จะทำให้เกิดการระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติ 1.7 เท่า และปริมาณไวรัสในผู้ป่วยถึงแม้จะไม่มีอาการ จะมีปริมาณไวรัสที่สูงมาก จากการสังเกต ค่า Ct ของสายพันธุ์สถานบันเทิงจะเห็นได้ชัด

สำหรับ เชื้อไวรัสโควิด-19  เชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ หรือ บี.1.1.7 ก่อนหน้านี้ นางชารอน พีค็อก ผู้อำนวยโครงการเฝ้าระวังทางพันธุกรรมโควิด-19 ของอังกฤษ ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า เชื้อโควิด -19 กลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ หรือที่เรียกกันว่า สายพันธุ์เคนท์ เนื่องจากพบครั้งแรกที่เมืองเคนท์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายน 2563 จะกลายเป็นสายพันธุ์ย่อยของโควิด-19 ที่จะแพร่ระบาดและครอบงำไปทั่วโลก ขณะที่มีการตรวจพบสายพันธุ์นี้ระบาดไปแล้ว 50 ประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สายพันธุ์เคนท์แพร่ระบาดไปทั่วอังกฤษ จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์เป็นรอบที่สอง สามารถแพร่ได้เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม 70% หรือประมาณ 1.7 เท่า และเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตเพิ่มมากขึ้นกว่าทุกสายพันธุ์ย่อย 30% โดยสายพันธุ์นี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการกลายพันธุ์ซ้ำขึ้นอีก และส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เชื้อกลายพันธุ์บี.1.1.7 หรือสายพันธุ์เคนท์ พบครั้งแรกในไทยเมื่อมกราคม 2564 จากครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คน พ่อ แม่ ลูก 2 คน ติดเชื้อทั้ง 4 คน โดยที่แม่และลูกเป็นก่อน พ่อเป็นทีหลัง มาจากเมือง Kent ประเทศอังกฤษ

การถอดรหัสพันธุกรรมทำให้ทราบว่าสายพันธุ์นี้ เป็นสายพันธุ์ของอังกฤษกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกเฝ้าระวังกันมาก และมีการระงับเที่ยวบินจากอังกฤษ ได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรม 2 ราย มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งเกาะจับตัวรับของเซลล์มนุษย์ (N501Y) การกลายพันธุ์ที่จุดตัดของสไปค์โปรตีน (P681H) ตำแหน่งอื่นๆที่ขาดหายไป (Spike 69-70 Deletion) และตำแหน่งอื่นๆอีกดังในรูป

หมอยง ระบุในเฟสบุ๊ค ณ ขณะนั้นว่า สำหรับประเทศไทย สายพันธุ์นี้ไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้นและไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของวัคซีน ขอให้สบายใจได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง