วันที่ 10 เมษายน 2564 เวลา 05.35 น. ที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม พร้อมด้วย ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค รับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค จำนวน 1 ล้านโดส จากประเทศจีน ที่ขนส่งโดยสายการบิน Air China Airline เที่ยวบินที่ CA603 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพมหานคร
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขโดยองค์การเภสัชกรรมดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เร่งด่วน จำนวน 2 ล้านโดส โดยมีการเจรจาจัดซื้อจากบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ซายน์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน (Sinovac Life Sciences Co.,Ltd., People’s Republic of China) โดยวัคซีนล็อตแรก ได้จัดส่งให้องค์การเภสัชกรรมไปแล้วเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 2 แสนโดส ล็อตที่2 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 จำนวน 8 แสนโดส และในวันนี้ได้มีการส่งมอบล็อตที่ 3 อีกจำนวน 1 ล้านโด๊ส โดยวัคซีนดังกล่าวมีการจัดส่งด้วยกล่องที่มีการควบคุมอุณหภูมิ (Passive cold carton) ระหว่าง 2-8 องศา ตลอดเวลา ที่สามารถเก็บอุณหภูมิได้นานถึง 96 ชั่วโมง
วัคซีนทั้งหมดนี้จะขนส่งไปจัดเก็บยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศา ด้วยเช่นกัน ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด จากนั้นจะดำเนินการตรวจรับและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และเอกสารต่างๆ อีกครั้ง และเมื่อผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอนแล้ว จะส่งให้กรมควบคุมโรคตรวจรับวัคซีนและกระจายไปยังหน่วยบริการ และสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามแผนที่กำหนด โดยวัคซีนนี้จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ที่มีอายุ 18-59 ปี คนละ 2 โดส
“สำหรับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค จากประเทศจีนนั้น ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคไปแล้ว ประมาณ 200 ล้านโดส (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เมษายน 2564) อาทิ ประเทศจีน สิงคโปร์ บราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ บรูไน ไทย เป็นต้น และวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน ยังติด 1 ใน 10 อันดับผู้ผลิตของประเทศในโลกที่ได้รับการจองวัคซีนโควิด-19 มากที่สุด โดยมีการจองที่ 367 ล้านโด๊ส(ข้อมูล ณ วันที่ 7 เมษายน 2564)”
นพ.วิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ประมาณปลายเดือนเมษายนนี้จะมีการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวคจากประเทศจีนอีก จำนวน 5 แสนโดส โดยเป็นในส่วนที่องค์การเภสัชกรรมได้สั่งซื้อเพิ่มเติมไว้ โดยวัคซีนซิโนแวคนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานบริหารจัดการวัคซีนโควิด -19 ของประเทศไทยที่เป็นไปตามแผนงานกระทรวงสาธารณสุขที่วางไว้อย่างรัดกุมและเป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ปกป้องระบบสุขภาพ ของประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไป
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีนโยบายให้เอกชนจัดหาวัคซีนทางเลือก 10 ล้านโดส ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขยินดีอย่างยิ่ง หากภาคเอกชนจะเข้ามาแบ่งเบาภาระ และที่ผ่านมา ได้ให้เอกชน ไปหารือกับผู้ผลิต หาวัคซีนมาขึ้นทะเบียน และให้บริการ โดยไม่มีการห้าม ประเทศไทย ก็ต้องการมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้น หากเอกชนไปหารือกับทางไฟเซอร์สำเร็จ ก็นำมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ได้
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ทำทุกทาง เพื่อให้ไทยได้วัคซีนเข้ามาใช้อย่างเหมาะสม เคยพูดคุยกับผู้ผลิตหลายต่อหลายเจ้า ผู้ผลิตพร้อมขึ้นทะเบียนกับไทย แต่มีเงื่อนไขว่าไทยต้องซื้อวัคซีนเท่านี้ จัดส่งได้ตามระยะเวลานี้ ซึ่งไทยไม่ได้ต้องการขนาดนั้น และระยะเวลาการจัดส่งก็อาจจะช้าไปแล้ว การพูดคุยก็ยุติลง แต่ไทยไม่เคยลดละความพยายามที่จะให้ทางผู้ผลิตมาขึ้นทะเบียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โควิดระบาดดุ สัปดาห์เดียว พบผู้ติดเชื้อใน 45 จังหวัด
สงกรานต์ 2564 "สมุทรสาคร" งดกิจกรรมเสี่ยงโควิด
สื่อญี่ปุ่นเผย “ทูตนะชิดะ” ไปคริสตัลคลับทองหล่อก่อนตรวจพบโควิด