วันนี้(10 เม.ย.94) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมของการเตรียมสถานที่ เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสนามรองรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ที่บริเวณศูนย์แพทย์ศาสตร์และการเรียนรู้เพื่อผู้สูงอายุ ซอยโรงเรียนโชติการ ฝั่งตรงข้ามวัดศาลาแดง ถนนเลียบคลองปทุม เขตทวีวัฒนา โดยมีนายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัด กทม. ผู้บริหาร กทม. ร่วมคณะฯ และผู้บริหารสถานพยาบาล กทม. ร่วมให้ข้อมูลให้ข้อมูลการดำเนินงาน
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.ได้เตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเบื้องต้น กทม.ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ 4 แห่ง ประกอบด้วย
1.โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รองรับได้ 500 เตียง
2.โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา รองรับได้ 200 เตียง
3.สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน เขตบางบอน รองรับได้ 200 เตียง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้วันที่ 13 เม.ย.นี้
และ 4.ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก รองรับได้ 350 เตียง ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงสถานที่
นอกจากนี้ได้จัดเตรียมสถานที่ต่างๆ ที่จะสามารถเป็นโรงพยาบาลสนามได้เพิ่มเติมด้วยหากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
ส่วนกรณีมีข่าวว่าผู้ป่วยไม่มีเตียงนั้น ในส่วนของ กทม.ยังมีเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ หากมีการประสานมา กทม.ก็ยินดีรองรับผู้ป่วยมาดูแล ซึ่ง กทม.ได้จัดเตรียมสถานที่เป็นโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม กรณีมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น อาทิอาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง รวมถึงมีการประสานกับบางโรงแรมเพื่อทำเป็น Hospitel ไว้บ้างแล้วบริเวณย่านฝั่งธนบุรี และฝั่งพระนคร
ด้านรองปลัด กทม. กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.ได้มีการออกสอบสวนโรคเชิงรุกและวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีอยู่ 2 ที่ ได้แก่ บริเวณลานกีฬาแสงทิพย์ และวัดนิมมานรดี โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มข้น ประกอบกับมีประกาศสั่งจากผู้ว่าฯกทม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร สั่งปิดสถานบันเทิงทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงหากประชาชนใช้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A ได้แก่
D - Distancing เว้นระยะระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น
M - Mask wearing สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
H - Hand washing ล้างมือบ่อย ๆ จัดให้มีจุดบริการเจลล้างมืออย่างทั่วถึงเพียงพอ
T - Temperature ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าใช้บริการ เพื่อคัดกรองผู้ใช้บริการที่อาจไม่สบาย
T - Testing ตรวจหาเชื้อโควิด-19
และ A ติดตั้งและใช้แอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” ก่อนเข้า-ออกสถานที่ทุกครั้ง และละเว้นการสาดน้ำหรือเล่นน้ำสงกรานต์จะสามารถช่วยควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้
ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า สำนักการแพทย์ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมการแพทย์ กลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์ และโรงพยาบาลเอกชน จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ 3,000 กว่าเตียง รวมกับของกรุงเทพมหานครแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 เตียง และมีการประสานกับภาคีเครือข่ายจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมเป็นระยะ รวมถึงแนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่บริเวณแจ้งวัฒนะด้วย คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 10,000 เตียง
สำหรับโรงพยายาลราชพิพัฒน์จะรองรับผู้ป่วยสีเหลือง ที่มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ส่วนผู้ป่วยสีแดง จะทำการดูแลรักษาที่โรงบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลสิรินธร ถ้ารวมเตียงทั้งหมดสำหรับผู้ป่วยสีแดงและสีเหลือง มีเกือบ 900 เตียง
ส่วนโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการสำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่ไม่มีอาการ จำนวน 200 เตียง เมื่อผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นระดับปานกลางถึงหนักจะส่งตัวรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ซึ่งเปิด Cohort ward มีทีมแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยสำหรับรักษาผู้ป่วย COVID-19 และย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ตามอาการต่อไป
ปัจจุบันโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษา จำนวน 28 คน เป็นคนไทย16 คน คนต่างด้าว 12 คน โดยมีการดูแลรักษาตามมาตรฐานด้วยทีมแพทย์ของโรงพยาบาลราชพิพัฒและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อและทางเดินหายใจของสำนักการแพทย์