สธ.ย้ำผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตรวจครั้งแรกไม่พบโควิด ไม่ได้แปลว่าปลอดภัย อีก 7 วันควรไปตรวจอีกครั้ง

14 เม.ย. 2564 | 00:15 น.
อัปเดตล่าสุด :14 เม.ย. 2564 | 07:47 น.

เรื่องด่วนต้องรู้ ตอบชัด ๆ 3 คำถามที่คนคาใจมากที่สุด ติดเชื้อโควิดแล้วไม่มีอาการ ขอรักษาตัวเองที่บ้านได้ไหม? ไม่อยากได้เตียงรพ.สนามหรือ รพ.ดัดแปลง (hospitel) ขอไปอยู่รพ.เอกชนในต่างจังหวัดได้ป่าว? ตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ ลั้ลลาได้หรือยัง? เรามีคำตอบที่นี่    

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 พร้อมตอบคำถามคาใจประชาชนวานนี้ (13 เม.ย.) ว่า กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนจะต้องได้รับ การรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีเตียงเพียงพอที่จะรองรับ ในขณะนี้คร่าวๆทั่วประเทศ คือ 30,000 เตียง (ทั้งเตียงในรพ.ภาครัฐและเอกชน ,เตียงรพ.สนามและเตียงรพ.ดัดแปลงจากโรงแรม หรือ hospitel) กรณีที่ผู้ติดเชื้อยังไม่มีเตียงรพ.และมีข้อสงสัยประการใด สามารถโทรไปที่เบอร์สายด่วน 1330 ,1668 หรือ 1669  ก็จะมีเจ้าหน้าที่รับข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ของผู้ติดเชื้อ แล้วจะส่งรถไปรับ “ขอย้ำตรงนี้อีกครั้งนะครับว่า ผู้ติดเชื้อต้องอยู่ที่รพ.เท่านั้น”  

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

ติดเชื้ออาการน้อยหรือไม่มีอาการ รักษาตัวเองที่บ้านได้หรือไม่

ส่วนกรณีที่มีเน็ตไอดอลที่มีการติดเชื้อโควิดแบบมีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการซึ่งยังอยู่ที่บ้านแล้วออกมาเชิญชวนประชาชนคนอื่น ๆที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการว่า สามารถอยู่ที่บ้านได้เหมือนกับในหลาย ๆประเทศที่ทำกัน พร้อมแนะนำการปฏิบัติตัวว่า สามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลนั้น  นพ.โอภาสกล่าวว่า ไม่ควรทำเช่นนั้น เพราะการที่สธ.แนะนำให้ผู้ติดเชื้อโควิดทุกคนมารักษาตัวที่รพ. ก็เพราะมีเหตุผลสำคัญ 2 ประการด้วยกัน คือ

  • ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ จะต้องได้รับการดูแลและติดตามผลการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะเราจะเห็นได้ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยปอดติดเชื้อที่ไม่มีอาการจำนวนมาก และอาการดังกล่าวสามารถเพิ่มความรุนแรงและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ผู้ติดเชื้อทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์เท่านั้น “หลายคนเข้าใจผิดว่า วันนี้ไม่มีอาการแล้วพรุ่งนี้จะไม่มีอาการ ซึ่งจริงๆแล้ว อาจจะมีอาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ฉะนั้น จึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด”
  • สอง ผู้ติดเชื้อจะมีเชื้อไวรัสออกมาทางการหายใจ เวลาไอหรือจาม หรือเวลาพูดคุยกับใคร เพราะฉะนั้น เขาจะมีความเสี่ยงในการที่จะนำเชื้อไปแพร่กระจายสู่คนอื่น จึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่หรือแพทย์เพื่อที่จะรักษาตัวเอง

“ดังนั้น เมื่อประเทศไทยเรามีเตียงเพียงพอ มียาเพียงพอ มีบุคลากรที่จะดูแลอย่างเพียงพอ ไม่เหมือนกับในหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากจนระบบโรงพยาบาลของเขาดูแลไม่ไหว เขาถึงให้ผู้ติดเชื้อไปดูแลตัวเองที่บ้าน จึงขอแนะนำว่า ถ้าใครติดเชื้อแล้วยังหารพ.ไม่ได้ ให้โทรไปยังเบอร์สายด่วนดังที่กล่าวมาแล้ว ไม่ควรอยู่ที่บ้านอย่างเด็ดขาด ซึ่งตรงนี้ผมยังไม่ได้พูดถึงประเด็นทางกฎหมาย ที่ในกรณีของผู้ที่เป็นโรคติดต่ออันตราย หากเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ สั่งให้ท่านมาเข้ารับการรักษา แล้วท่านไม่มารักษา ก็จะมีความผิดตามกฎหมายนะครับ เพราะฉะนั้น ท่านที่เชิญชวนให้คนอื่นติดเชื้อแล้วอยู่ที่บ้าน ก็ขอให้หยุดการกระทำนั้นโดยเด็ดขาด” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

เบอร์โทรสายด่วนหาเตียงรักษา

ไม่อยากอยู่รพ.สนาม ขอไปหาเตียงรพ.เอกชนในตจว.ได้ไหม   

กรณีที่ทางรัฐหาเตียงให้ได้แล้ว แต่เป็นเตียงฮอสพิเท็ล (hospitel) หรือเป็นเตียงรพ.สนาม ถ้าผู้ป่วยไม่ประสงค์จะไปอยู่ที่ฮอสพิเท็ลหรือรพ.สนาม อยากจะไปอยู่ในรพ.เอกชนที่อยู่ในจังหวัดอื่นที่ยังมีเตียงว่างอยู่ (ตัวอย่างนี้เป็นกรณีผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้ออยู่ในเขตกทม.) กรณีแบบนี้จะสามารถทำได้หรือไม่  

อธิบดีกรมควบคุมโรคตอบว่า ด้วยเหตุผลที่โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ทางสธ.จึงไม่อยากให้มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยข้ามจังหวัดเพราะจะทำให้อีกจังหวัดหนึ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และการบริหารทรัพยากรในแต่ละจังหวัดอาจจะไม่เหมือนกัน โดยจังหวัดเล็ก ๆ อาจจะมีเตียงว่าง แต่ถ้ามีผู้ติดเชื้อคนหนึ่งเข้าไปแล้วเกิดการแพร่กระจายเชื้อออกไป อาจจะทำให้จังหวัดนั้นประสบความยากลำบากในการควบคุมโรค

ดังนั้น ในขณะนี้ ถ้าผู้ป่วยอยู่ที่จังหวัดไหน เช่น อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ก็ขอให้อยู่ที่จังหวัดนั้น ไม่ควรมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น ขณะนี้สธ.ยังไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยข้ามจังหวัด  แต่หากมีความจำเป็นจริง ๆก็จะมีการพิจารณาเป็นราย ๆไป  

ตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ แปลว่าวางใจได้แล้วใช่ไหม ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

สำหรับกรณีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ใน กลุ่มผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง แล้วตรวจหาโควิด-19 ในครั้งแรกไม่พบเชื้อ ควรจะมีการปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงที่มีการกักตัว เป็นไปได้ไหม หากมีการตรวจในครั้งที่สองหรือครั้งที่สามแล้วอาจจะมีการพบเชื้อโควิดในภายหลัง เนื่องจากเท่าที่ผ่านมา เคยมีข่าวกรณีของผู้ที่ตรวจครั้งแรกแล้วไม่พบเชื้อ ก็อาจมีการประมาทในการใช้ชีวิต มีการเดินทางไปในที่ต่าง ๆตามปกติ เพราะคิดว่าตัวเองตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ต่อมาเพิ่งจะมาพบเชื้อเมื่อมีการตรวจครั้งที่สอง

กรณีดังกล่าวนี้ นพ.โอภาส อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ผู้สัมผัสแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งกลุ่มหลังเป็นผู้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ มีการพูดคุยกัน 5 นาทีโดยไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยทั้งคู่  มีการไอจามใส่กัน(ซึ่งกรณีไอจามใส่กันถือว่าเสี่ยงสูงมาก) หรือว่าอยู่ในห้องเดียวกันนานกว่า 15 นาทีโดยเป็นสถานที่อากาศไม่ถ่ายเทและไม่มีการใส่หน้ากากอนามัย อย่างนี้ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สิ่งที่คนกลุ่มนี้ควรจะต้องดำเนินการก็คือ

  • ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน อาจจะกักตัวเองอยู่กับบ้าน หรือกักตัวในที่สถานราชการกำหนด แล้วแต่กรณี
  • จะต้องไปตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ  คือไปตรวจครั้งแรกหลังจากที่รู้ตัวเองว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพื่อให้แน่ใจว่า หากผลเป็นบวก เป็นผู้ติดเชื้อ ก็จะได้ไปหาผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงต่อจากผู้ที่ผลตรวจออกมาเป็นบวกต่อไป (เพื่อการควบคุมโรค) แต่ถ้าผลตรวจครั้งแรกออกมาเป็นลบ ก็แปลว่าผู้ที่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลผู้นี้ก่อนหน้านี้ พวกเขาปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยง จะได้ไม่ต้องกังวล

“การตรวจครั้งแรกไม่ได้แปลว่าท่านจะไม่ติดเชื้อนะครับ เพราะเราจะต้องติดตามท่านจนครบระยะกักตัว 14 วัน แล้วระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะเป็นในวันหลัง ๆ จากประสบการณ์และสิ่งที่เราดำเนินการก็คือ เมื่อผลตรวจหาเชื้อครั้งแรกเป็นลบ ไม่ได้แปลว่าท่านปลอดภัย เราจึงขอให้ท่านกักตัวอยู่กับบ้าน ใส่หน้ากากอนามัยให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้  ไม่ควรจะไปอยู่ในที่ชุมชน หรือไปพบปะคนอื่นเด็ดขาด หลังจากนั้น 7 วัน (หลังจากที่ตรวจครั้งแรก 7 วัน) ก็ควรจะมีการตรวจครั้งที่สองต่อไป เพราะฉะนั้น แต่ละวันที่เปลี่ยนแปลงไปก็จะทำให้โอกาสจะพบเชื้อเพิ่มมากขึ้น" นายแพทย์โอภาสกล่าว และว่า

โดยสรุปคือ ให้ท่านไปตรวจครั้งแรกทันทีที่ทราบว่าตัวเองเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หลังจากนั้น 7 วันให้ไปตรวจแล็บครั้งที่สอง และถ้าหลังจากนั้นมีข้อสงสัยก็ให้ไปตรวจอีกเป็นราย ๆ ไป ยกตัวอย่างบางรายตรวจแล้วถึงสองครั้งผลเป็นลบ แต่ต่อมามีอาการ ก็ต้องไปตรวจเพิ่มเติม

กรณีผู้ที่อยากไปตรวจ แต่ไม่รู้ว่าจะไปตรวจที่ไหนดี มีคำแนะนำว่า ถ้าเป็นผู้มีอาการหรือมีประวัติเสี่ยง ให้ไปรับการตรวจที่สถานพยาบาล โดยเฉพาะของรัฐ ที่มีทั่วประเทศ สามารถรับการตรวจได้ฟรีกรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ส่วนกรณีอื่น ๆถ้าหากมีข้อสงสัยก็สามารถไปปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านท่านทุกแห่ง โรงพยาบาลเอกชนก็ปรึกษาได้ แต่บางกรณีอาจจะมีปัญหาในเรื่องของค่าใช้จ่าย  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

องค์การเภสัชฯ สำรองยา “ฟาวิพิราเวียร์” รับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

“ผู้ประกันตน”พื้นที่สีแดง 6 จังหวัดเสี่ยงโควิดรัฐจัดตรวจหาเชื้อให้ฟรี

นายกฯ อนุมัติส่วนราชการ Work from Home

เพจหมอตี๋ สาธิต ปิตุเตชะ โพสต์เตรียมความพร้อมก่อนไปโรงพยาบาลสนาม

สธ.วอนประชาชนเชื่อมั่นต่อวัคซีนโควิดในไทย ย้ำมีประสิทธิภาพสูง

สธ.ยันมีเตียง “เพียงพอ” รองรับผู้ป่วยโควิด