9 แนวทางควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอกสาม

17 เม.ย. 2564 | 13:10 น.

หมอธีระเผย 9 แนวทางควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอกสามอย่างมีประสิทธิภาพ

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า

              ตามหลักการแล้ว ในเมื่อไวรัสติดได้ผ่านการติดต่อกัน ใกล้ชิดกัน นัวเนียกัน แชร์ของกินของใช้ร่วมกัน อยู่ร่วมกันทั้งในครัวเรือนหรือที่ทำงานหรือสถานที่ต่างๆ ที่ใช้ชีวิตประจำวัน โดยหากยังต้องดำรงชีพไปในลักษณะดังกล่าวก็ย่อมทำให้เกิดการแพร่เชื้อ ติดเชื้อกันไปได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จะระบาดมากหรือน้อย ก็ขึ้นกับปัจจัยหลักๆ ทั้งคุณสมบัติของไวรัสเอง และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคน คือ จำนวนครั้งของการสัมผัส/พบปะติดต่อกับคนอื่น จำนวนคนที่สัมผัส/พบปะ และระยะเวลาที่สัมผัส/พบปะ

การจัดการควบคุมการระบาดของโรคนั้นจะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงต้องดำเนินการสิ่งต่างๆ ดังนี้

หนึ่ง ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน หรือระดับครัวเรือนก็ตาม โดยตรวจตราคัดกรอง ปิดกั้น ไม่นำพาเข้ามา ตรวจพบให้เร็ว แยกกัก และนำไปดูแลรักษาให้ดีก่อน

สอง ให้คนป้องกันตัว ด้วยหลักสุขอนามัย ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ หากไม่สบาย ได้รับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัว ก็ต้องสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งจากการให้ประเมินความเสี่ยงตนเองและคอยสังเกตอาการตนเองและคนใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการมีสุ่มตรวจเป็นระยะผ่านระบบการเฝ้าระวังรูปแบบต่างๆ เช่น การตรวจระดับบุคคลเป็นระยะ หรือตรวจสิ่งแวดล้อมประเภทน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือนหรือชุมชน

สาม ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนให้มีความปลอดภัยมากขึ้นอย่างถาวร ทั้งเรื่องสภาพที่อยู่อาศัย ระบบขนส่งสาธารณะ สิ่งแวดล้อมสาธารณะ ไปจนถึงสถานที่จำเพาะที่ประชาชนต้องไปใช้บริการ เช่น ตลาด ตลาดนัด ธนาคาร วัด ฯลฯ โดยโฟกัสไปที่การลดจำนวนคน จำนวนครั้งของการสัมผัส และเวลาในการสัมผัส

สี่ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบธุรกิจห้างร้านที่ค้าขายสินค้า บริการ ท่องเที่ยว ออกกำลังกาย ฯลฯ ให้มีความปลอดภัยมากขึ้นอย่างถาวร โดยโฟกัสไปที่การลดจำนวนคน จำนวนครั้งของการสัมผัส และเวลาในการสัมผัส

ห้า การคิดค้นวิจัย จัดซื้อจัดหา อุปกรณ์ป้องกันที่มีประสิทธิภาพสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในสังคม โดยคำนึงถึงลักษณะการใช้ที่เหมาะสม โดยมีปริมาณที่เพียงพอ เข้าถึงได้อย่างครอบคลุม

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

หก การพัฒนาระบบการตรวจโรคที่มีประสิทธิภาพ ปริมาณเพียงพอ เข้าถึงได้อย่างครอบคลุม โดยควรมีศักยภาพที่สามารถรองรับความต้องการยามที่เกิดระบาดหนักได้

เจ็ด การคิดค้นวิจัย จัดซื้อจัดหา ยารักษา และวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ปริมาณเพียงพอ หลากหลาย เข้าถึงได้อย่างครอบคลุม

แปด การพัฒนาและเตรียมความพร้อมเรื่องระบบในการดูแลรักษา ทั้งทรัพยากรบุคคล งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ ให้เพียงพอและมีศักยภาพมากพอที่จะรับมือกับความต้องการยามที่เกิดระบาดหนักได้ ทั้งนี้การคาดประมาณความต้องการเพื่อวางแผนเตรียมพร้อมนั้น ไม่สามารถดูจากสถานะเดิมหรือสถานะปัจจุบันของเราแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรดูจากประเทศอื่นๆ ด้วย เพื่อจะทราบพิสัยที่เป็นไปได้

และเก้า การให้ความรู้ที่ถูกต้อง ละเอียด เข้าใจง่าย และที่สำคัญมากคือครบถ้วน ตั้งแต่เรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ดูแลรักษา และการฟื้นฟูสภาพจากโรคนั้นๆ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาหรือวัคซีนหรืออุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ประชาชนทุกคนควรได้รับทราบทั้งข้อดีข้อจำกัด ไม่ใช่บอกแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง และเสริมสร้างให้มีทักษะในการค้นหาข้อมูล กลั่นกรอง ตรวจสอบข้อมูล เพื่อนำมาพิจารณาตัดสินใจประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง หากทำเช่นนี้ได้ ในระยะยาว จะทำให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีสมรรถนะในการรับมือกับภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

หากไปทำเพียงบางเรื่อง ก็อาจช่วยบรรเทาได้บ้าง แต่อาจได้ผลเพียงชั่วคราว หรืออาจไม่ได้ผลหากมีการระบาดรุนแรงเกินควบคุม

จะเห็นได้ว่า แนวทางต่างๆ ข้างต้น ไม่สามารถดำเนินการได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน คงต้องร่วมด้วยช่วยกันทำ จึงจะมีโอกาสเห็นผลสัมฤทธิ์

ด้วยรักและห่วงใย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :