อัพเดท สถานการณ์โควิดอยุธยา ยัน “ตลาดกลางกุ้ง” ไม่ใช่คลัสเตอร์ใหม่

17 เม.ย. 2564 | 17:09 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2564 | 08:30 น.

อัพเดท สถานการณ์โควิด อยุธยา พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 9 ราย รวม 172 ราย สสจ. ยืนยัน “ตลาดกลางกุ้ง” ไม่ใช่คลัสเตอร์ใหม่ เร่งทำการตรวจเชิงรุกแล้ว

วันที่ 18 เม.ย.2564 นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน จ.พระนครศรีอยุธยา พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่อีก 9 ราย มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 172 ราย รักษาตัวตามโรงพยาบาลต่าง ๆ 110 ราย รักษาตัวหายแล้ว 62 ราย จากการสอบสวนโรค พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 69 ราย ส่งตรวจหาเชื้อ อยู่ระหว่างรอผลตรวจ

นพ.พีระ กล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่พบใหม่ จำนวน 9 ราย พบว่าทั้ง 9 ราย เป็นการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่มีการตรวจพบก่อนหน้านี้ของ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี เด็กชายอายุ 1 เดือนพร้อมกับแม่อายุ 38 ปี ติดเชื้อมาจาก ผู้ป่วยรายที่ 151 ซึ่งเป็นสามี รับเชื้อมาจากผู้ป่วยรายที่ 118 อีกที โดยรายละเอียดของผู้ป่วยทั้ง 9 ราย มีดังนี้

  • รายที่ 164 ชายไทยอายุ 53 ปี อ.วังน้อย สัมผัสผู้ป่วยรายที่ 121
  • รายที่ 165 หญิงไทยอายุ 48 ปี อ.วังน้อย ภรรยา ผู้ป่วยรายที่ 164
  • รายที่ 166 หญิงไทยอายุ 18 ปี อ.วังน้อย บุตรของผู้ป่วยรายที่ 165
  • รายที่ 167 ชายไทยอายุ 43 ปี อ.บางไทร สัมผัสผู้ป่วย กทม.
  • รายที่ 168 หญิงไทยอายุ 45 ปี อ.บางปะอิน หญิงไทยอายุ 45 ปี สัมผัสผู้ป่วยรายที่ 65รายที่ 67
  • รายที่ 169 ชายไทยอายุ 25 ปี อ.พระนครศรีอยุธยา ไปสถานบันเทิง อ.อุทัย จ.กาญจนบุรี
  • รายที่ 170 หญิงไทยอายุ 33 ปี อ.บางปะอิน สัมผัสผู้ป่วยในโรงงาน จ.สระบุรี
  • รายที่ 171 หญิงไทยอายุ 38 ปี อ.บางปะหัน ภรรยาของผู้ป่วยรายที่ 151 ตรวจพบเชื้อ
  • รายที่ 172 เด็กชายไทยอายุ 1 เดือน อ.บางปะหัน เป็นบุตรของผู้ป่วยรายที่ 151

นพ.พีระ กล่าวถึง กลุ่มผู้ป่วยตลาดกาลางเพื่อการเกษตรกร หรือ ตลาดกุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์รวมจำหน่ายร้านอาหาร ร้านขายกุ้งสดกุ้งเผา มีร้านค้าจำนวนมาก ไม่นับว่าคลัสเตอร์ใหม่ของการแพร่ระบาด แหล่งที่มาของเชื้อมาจากหลานสาวของเจ้าของร้านอาหารในตลาดกลาง มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยงในกรุงเทพฯ และกลับมาติดป้ากับยาย

นพ.พีระ กล่าวต่อว่า ป้าและยายเป็นกลุ่มเสี่ยงจึงทำการตรวจ พบติดเชื้อ การสอบสวนโรคขยายผลไปพบกลุ่มเสี่ยงสัมผัส เป็นพนักงานในร้าน ทำการตรวจ พบว่าติดเชื้อจำนวน 17 ราย ทางกลุ่มร้านค้าต่าง ๆ จึงร่วมมือกันปิดร้าน เพื่อทำความสะอาด และวันที่ 18 เม.ย.นี้ ได้ทำการตรวจเชิงรุกถ้าตรวจแล้วไม่พบเชื้อ แสดงว่าเชื้อไม่ได้แพร่บาดกระจายออกไป

 

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา นายชัชชัย กิตติชัย หรือ ชัช ตลาดไท กรรมการบริหาร สมาคมอยุธยารวมใจ หน่วยกู้ภัยอยุธยา ได้นำรถฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค จำนวนหลายคัน เข้าไปฉีดพ่นในพื้นที่ตลาดกลางกุ้งอยุธยา แหล่งรวมร้านค้าอาหารชื่อดังประเภทกุ้งเผาปลาเผามากที่สุดของภาคกลาง พื้นที่รวมกว่า 10 ไร่ ริมถนนสายเอเชีย เส้นทางขาเข้ากรุงเทพฯ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 22  ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา 

หลังจากหน่วยงานภาครัฐและพ่อค้าแม่ค้า จำนวนมากกว่า 100 ร้านค้า ได้ร้องขอให้มาฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เนื่องจากพบการแพร่ระบาดจำนวนมาก ในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า และพนักงานประจำร้านอาหาร ส่วนใหญ่ไปติดเชื้อจากผู้ติดเชื้อรายที่ 113 และ 114ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งค้าขายอยู่ในตลาดแห่งนี้ขณะที่ อบจ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งรับผิดชอบตลาดกลางกุ้งอยุธยามีคำสั่งให้ปิดร้านค้าทุกร้าน และปิดตลาดในระหว่างวันที่ 17-18 เมษายนนี้ 

สาเหตุเนื่องจากพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในตลาดซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 17 คนแล้วในขณะนี้ในวันนี้ นอกจากฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อแล้ว ยังได้ล้างทำความสะอาดทั้งตลาด และในวันที่ 18 เมษายน 2564 จะมีการออกหน่วยบริการตรวจหาเชื้อโควิดกลุ่มเป้าหมายในตลาด 300 คน ทั้งนี้มีรายงานว่าจะมีคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านสาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบ เพื่อประเมินความเสี่ยง และจะพิจารณาว่าจะให้เปิดตลาดได้ หรือ จะให้ปิดตลาดเป็นการชั่วคราวต่อไปอีก

วันที่ 18 เมษายน 2564 เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนหลายสำนักที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ขาดจรรยาบรรณ เกี่ยวกับการปิดตลาดกลางเพื่อเกษตรกร อยุธยา โดนระบุข้อความ

เรียน บรรณาธิการสำนักข่าวและสื่อมวลชนที่นำเสนอ

ตามที่สื่อมวลชนหลายสำนักข่าวได้นำเสนอข่าวการปิดตลาดกลางกุ้ง อยุธยา ซึ่งข้อเท็จจริงตลาดกลางแห่งนี้ชื่อว่า “ตลาดกลางเพื่อเกษตรกร”มีการซื้อขายสินค้าเกษตร และสินค้าสัตว์น้ำ สินค้าพื้นบ้าน หลากหลาย ไม่ได้มีเฉพาะสินค้ากุ้งอย่างเดียว และยังมีร้านอาหารอยู่บริเวณนั้นอีกมากมาย   

จากการที่สื่อมวลชนหลายสำนักข่าวที่นำเสนอข่าวในเชิงลบ ไม่สร้างสรรค์ บิดเบือนข้อเท็จจริง ขาดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง ทำให้ส่งผลกระทบในสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ ที่จะเป็นแพะรับบาป จำเลยสังคมให้เกิดความเข้าใจผิดว่ากุ้งเป็นพาหะการแพร่ระบาด ซึ่งในความเป็นจริงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากุ้งไม่ได้เป็นพาหะของโรคโควิด-19เลย ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โดนกดราคา ผู้ประกอบการซื้อขายกุ้งได้รับผลกระทบ ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นฯลฯ   

ในการนี้ทางเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย ใคร่วิงวอนสื่อมวลชน บรรณาธิการสำนักข่าวต่างๆ ได้กรุณานำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องกุ้ง อย่างสร้างสรรค์ มีจรรยาบรรณ เพื่อความเชื่อมั่นและเชื่อถือศรัทธา สำนักข่าวนั้นๆด้วย และขอเรียกร้องให้สำนักข่าวต่างๆที่นำเสนอข่าวเรื่องนี้ไปแล้วได้กรุณาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ขอขอบคุณ ครรชิต เหมะรักษ์