กรมการแพทย์ระดมจิตอาสาช่วยสายด่วน1668

22 เม.ย. 2564 | 09:13 น.

กรมการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพสายด่วน 1668 ด้วยการระดมจิตอาสามาช่วย พร้อมแจงระบบการทำงานออกเป็น 4 ทีมหลัก หวังช่วยเหลือประชาชนทั่วถึง

จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความห่วงใย สายด่วน 1668  ไม่มีคนรับสาย ทางกรมการแพทย์ โดยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ขอชี้แจงว่ากรมการแพทย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ  บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ของกรมการแพทย์มีความห่วงใยประชาชน จึงรวบรวมจิตอาสากว่า 200 ชีวิต ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่สามารถให้คำแนะนำเบื้องต้น


"จิตอาสาที่ระดมมาช่วย สามารถใช้ทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางการแพทย์ จิตวิทยาในการสื่อสารกับผู้ป่วยและการให้กำลังใจ เปรียบเสมือนผู้ป่วยคือคนในครอบครัว เพื่อคลายความกังวลใจแก่ผู้ติดเชื้อได้  ซึ่งจิตอาสาทุกท่านล้วนแต่มีงานประจำที่ต้องปฏิบัติเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีจิตอาสาทำงานสายด่วนดังกล่าวโดยไม่มีวันหยุดอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  ด้วยความเชื่อที่กรมการแพทย์ยึดมั่นเสมอว่า “ทุกลมหายใจที่ได้คืนมามีค่ามากเกินกว่าคำชื่นชม” 

ระดมจิตอาสาช่วยสายด่วน1668
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด -19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  อาจก่อให้จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการติดต่อประสานงานบ้าง แต่อยากให้ทุกท่านทราบว่าบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนพยายามทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อประชาชนทุกคน และแม้ว่า 1668 เป็นสายด่วนเฉพาะกิจเปิดให้บริการทุกวันระหว่างเวลา 08.00 -22.00 น. แต่มีการทำงานอย่างละเอียดโดยแบ่งเป็น 4 ทีมหลัก ดังนี้


1. ทีมรับสาย Hotline 1668 จากผู้ป่วยโควิด 19 สอบถามข้อมูลรายละเอียดของผู้ป่วย 


2. ทีมข้อมูล มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจากทีมงานสายด่วนและทีมประสานงาน วิเคราะห์ข้อมูล จัดทำฐานข้อมูล สรุปข้อมูลรายวัน

 
3. ทีมแพทย์  มีทีมแพทย์ประเมินอาการระดับความรุนแรงของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรงของโรค  


4. ทีมตอบสนองและประสานงาน มีหน้าที่ประสานขอเตียงจากโรงพยาบาลเป้าหมาย (ผ่านศูนย์ส่งต่อโรงพยาบาลราชวิถี กรณีเป็นผู้ติดเชื้อในความรับผิดชอบของกรมการแพทย์ และประสานผ่านศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร กรณีเป็นผู้ติดเชื้อในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์) รวมทั้งโทรเยี่ยมติดตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งแต่ละสายใช้เวลาในการพูดคุยกับผู้ป่วยประมาณ 20 - 40 นาที 

 

กระบวนการทำงานของสายด่วน1668
สำหรับการดำเนินการรับสายที่โทรเข้ามา จนถึงวันที่  21 เมษายน  2564  รวม 3,477 สาย โทรเยี่ยมติดตาม 3,277 สาย  ผู้ติดต่อขอเตียง 1,584 คน รับเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว 


ทั้งนี้ กรณีที่โทร 1668 แล้วไม่มีผู้รับสายนั้น เกิดจากแต่ละวันมีผู้โทรเข้า 1668 มากกว่า 200 สาย จนทำให้คู่สายล้น ซึ่งทางกรมการแพทย์ได้จัดให้มีการส่งต่อข้อมูล ด้วยเทคนิค convert สายเข้าโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของจิตอาสาจากทั่วประเทศ ทำให้สามารถรับสายเพิ่มได้อีกกว่า 10 คู่สาย 


หากไม่สามารถติดต่อ 1668 ได้ ขอให้ติดต่อทางแอปพลิเคชันไลน์ โดยการเพิ่มเพื่อน Line @sabaideebot กรอกข้อมูลชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประสานติดต่อเจ้าหน้าที่อีกทาง  กรมการแพทย์ขอยืนยันว่ามีการปรับปรุงระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรวดเร็วขึ้น  
 

แอดไลน์ช่วยหาเตียงผู้ป่วยโควิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง