รายงานข่าวระบุว่า ศาสตราจารย์ นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda โดยมีข้อความว่า บอกแล้วว่าให้บริหารความเสี่ยงใหม่ อย่าไปตามต่างชาตินักครับ เป็นผมจะลุยฉีดวัคซีนที่มีเหลือในมือทั้งหมดตอนนี้ในชุมชนแออัด และคนหาเช้ากินค่ำริมถนน ถือว่าแนวหน้าได้ไปมากกว่า 90% แล้ว
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำเสนอความคิดเห็นของ นพ.นิธิ ที่โพสผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งมีข้อความว่า ข้อเสนอนอกกรอบของหมอนิธิ
ผมชอบมีความเห็นนอกลู่นอกทางเสมอ เรื่องการจัดกลุ่มกระจายวัคซีนก็เช่นกัน
วันนี้บุคลากรด่านหน้าที่อยู่ในระบบน่าจะได้รับวัคซีนกันไปมากพอควรแล้ว อย่างน้อยก็โดสแรก ซึ่งก็สมควรอยู่ เพราะจะรบทั้งที ขวัญกำลังใจทหารแนวหน้าย่อมเป็นเรื่องสำคัญ แต่พอเห็นระบบลงทะเบียนหมอ(เกือบ)พร้อม ผมรู้สึกว่าการบริหารจัดการด้วยวิธีรวมศูนย์(ความคิด)นั้นมันเหมาะหรือไม่ในสถานการณ์สังคมไทย ...เราจะตามฝรั่งในการจัดวัคซีนให้คนสูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวก่อนโดยไม่สนใจสังคมและเศรษฐกิจของเราเลยจะดีหรือ?
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในประเทศไทยอยู่บ้านกับลูกหลาน ไม่ก็มีผู้ดูแล คนที่จะไปอยู่สถานดูแลผู้สูงอายุนั้นถึงจะมีบ้าง สัดส่วนก็น้อยกว่าประเทศตะวันตกมาก เช่นเดียวกับผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่อาการหนักก็มีคนดูแล ผู้ที่อาการไม่หนักก็ไม่ได้ออกไปพบใคร ๆ มากนัก ดังที่เห็นในระลอกนี้ว่า ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมีอายุไม่มากกันนัก...คงยังไม่ลืมกันที่ผมเคยกล่าวไว้ว่า เรื่องของระบาดวิทยานั้นเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์การแพทย์และสังคม วิทยาที่มีความสำคัญพอๆกัน
ขณะนี้ประเทศไทยป่วยด้วยโควิด-19 (Covid-19) และป่วยด้วยเรื่องเศรษฐกิจ สองโรคด้วยกัน
เราคงต้องใช้วัคซีนกับทั้งสองโรค ดังนั้น การบริหารการกระจายวัคซีนจากส่วนกลางอาจจะทำให้เกิดความปั่นป่วนและฟื้นตัวได้ช้าจากทั้งสองโรค และที่น่ากลัวที่สุดคือจะทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมเพิ่มมากขึ้น
การศึกษาเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญครับ ถึงแม้จะพยายามปรับมาเป็นระบบออนไลน์ แต่ยังไง ๆ จากทั้งผู้สอนและผู้เรียนที่ไม่ได้เตรียมตัว อีกทั้งระบบอินเตอร์เน็ตที่ไม่สมบูรณ์ คนมีฐานะดีจะได้เปรียบกว่าอย่างชัดเจน ถ้ารัฐบาลจะให้เปิดเทอมในเดือนมิถุนายนนี้ คนที่จะแพร่และติดเชื้อได้เป็นกลุ่มใหญ่อีกคือคนในโรงเรียน ซึ่งหมายถึงครูอาจารย์และผู้ช่วยครับ...พวกเขาอายุไม่ถึง เขาจะได้รับวัคซีนกันเมื่อไหร่ครับ?
หรือแม้แต่ผู้ประกอบการทั้งหลายที่ต้องสัมผัสคนเป็นจำนวนมาก ๆ และใกล้ชิดเช่นร้านอาหาร ตำรวจ หรือทหารที่คอยกันคนที่ลักลอบเข้าประเทศมา ซึ่งติดกันมาหลายครั้งหลายหนแล้วแต่ไม่มีข่าว ...ยังมีอีกหลายอาชีพครับที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดหรือปรับปรุงสถานที่และวิธีการทำธุรกิจได้ทันการณ์ ...ดังนั้นการบริหารจัดการกระจายและให้วัคซีนในครั้งนี้ไม่ใช่แค่รักษา”ชีวิต” คนแล้วครับ แต่มันจะต้องให้ถึงการรักษา “ชีวิตชีวา” ของสังคมด้วย
ผมอยากเสนอให้รัฐบาลมอบวัคซีนให้แต่ละภาคส่วน เช่นกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ดูแลมหาวิทยาลัย สมาคมธุรกิจแต่ละกลุ่มไปบริหารจัดการกันเอง ตามสัดส่วนที่ได้วัคซีนมาครับ การกระจายจะทำให้อัตราการฉีดวัคซีนทำได้ดีขึ้นเร็วขึ้นถูกจุดตรงเป้ารักษาทั้งชีวิตและชีวิตชีวาได้ดีขึ้น
ส่วนกลางยังมีหน้าที่สำคัญมากๆที่สุดในการรวบรวมข้อมูลผลและผลข้างเคียงเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการติดตามการฉีดวัคซีนชนิดต่างๆ ในกลุ่มคนต่างๆ อย่างทันที เพื่อป้องกันข่าวลือข่าวลวงข่าวเท็จทั้งหลายที่ทำให้ประชาชนไม่กล้าไปฉีดวัคซีนครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :