กางแผนงานดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับความเดือนร้อนจากโควิด -19

05 พ.ค. 2564 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2564 | 09:58 น.

กระทรวงพม.ผุดทีม" "เรามีเรา" พร้อมแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ที่ติดเชื้อหรือเสี่ยงติดเชื้อโควิด -19  

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้สร้างผลกระทบให้กับประชาชนคนทั่วไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานรัฐฯได้ออกมาตรการเยียวยาต่างๆเพื่อช่วยเหลือ -ฟื้นฟู ในส่วนของกลุ่มเปราะบาง ที่มีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และ คนพิการ ที่ดูแลโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้เตรียมมาตรการเพื่อช่วยเหลือเช่นเดียวกัน


สำหรับแผนงานหรือมาตรการต่างๆของพม.ที่ออกมาขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับความเดือนร้อนจากโควิด -19  อาทิ เรามีเรา ทั้งนี้รายละเอียดของมาตรการต่างๆจะมีอะไรบ้างนั้น "ฐานเศรษฐกิจ"รวบรวมมานำเสนอ 

"เรามีเราคืออะไร"
ทีม "เรามีเรา" จะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ  และคนพิการ ที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 และกำลังประสบปัญหาความยากลำบาก โดยทีม"เรามีเรา"ประกอบด้วย นักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาสังคม และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านคนพิการ จำนวน 15 ทีม

 

หน้าที่ของ"เรามีเรา"
ลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือทั้งในเขตกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค โดยประสานศูนย์บริการคนพิการประจำจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ดังนี้


1) ด้านการรับเรื่อง สายด่วน 1300 และ 1479 ได้แก่ 


1.1) รับแจ้งข้อมูลผู้รับบริการ (มีเอกสารรับรองทางการแพทย์จากหน่วยงานสาธารณสุข) แผนการรักษา สภาพปัญหา และความต้องการความช่วยเหลือ 


1.2) แจ้งรายละเอียดการเตรียมความพร้อมของผู้รับบริการก่อนเข้าสถานรองรับของกระทรวง พม. 


1.3) ประสานส่งต่อไปยังทีมประสานงานกลาง  

 

2) ด้านการประสานส่งต่อ ประสานงานกลาง ได้แก่ 


2.1) เจ้าหน้าที่ทีมประสานงานกลางรับการประสานข้อมูลจากสายด่วน 1300 และ 1479 


2.2) วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของผู้รับบริการเพื่อเข้าสถานรองรับฯ 


2.3) ตรวจสอบสถานะความพร้อมของสถานรองรับฯ 


2.4) นำส่งผู้รับบริการจากหน่วยงานสาธารณสุข หรือที่พักอาศัย เพื่อเข้ารับการดูแลในสถานรองรับฯ 

 

3) ด้านการช่วยเหลือดูแล ได้แก่ 


3.1) แนะนำการปฏิบัติตนในสถานรองรับและข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน 


3.2) คัดกรองเบื้องต้น และให้ผู้รับบริการชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนเข้าอาคารพัก

 

3.3) กรณีก่อนกลับบ้าน จะมีการประเมินสุขภาพร่างกายและจิตใจ 

 

3.4) การติดตามผลการช่วยเหลือผู้รับบริการภายหลังออกจากสถานรองรับฯ

 

กางแผนงานดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับความเดือนร้อนจากโควิด -19
 

นอกจากนั้นแล้วทางพม.ยังวางแนวทางการขับเคลื่อนโครงการให้บริการเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่เดือดร้อน ขาดผู้ดูแล โดยเตรียมสถานรองรับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับกลุ่มเปราะบาง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 


1) เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีผู้ดูแล เนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 


2) เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่รักษาหายจากโรคโควิด-19 แล้ว และกลับมาอยู่ในครอบครัว แต่มีความเครียดวิตกกังวล 


3) เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ถูกทิ้งไว้ลำพัง ไม่มีผู้ดูแล 


4) เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่ผู้ป่วยติดเชื้อเป็นผู้ส่งเสียเลี้ยงดู  
ด้านการบริการ ได้แก่ 


1) จัดที่พักอาศัย 


2) จัดอาหาร 3 มื้อ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 


3) ให้คำแนะนำปรึกษา จัดกิจกรรมนันทนาการตามความเหมาะสม โดยนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือผ่านระบบออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น 


4) กรณีที่มีอาการเจ็บป่วย จะประสานส่งต่อโรงพยาบาล 

 

สำหรับสถานที่รองรับกลุ่มเปราะบางนั้น  สามารถรองรับได้ประมาณ 400 คน มีดังนี้


1) กรณีเด็ก (แยกชาย-หญิง) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้แก่ 


1.1) สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี กรุงเทพฯ (เฉพาะเด็กหญิง)


1.2) สถานสงเคราะห์เยาวชนมูลนิธิมหาราช จ.ปทุมธานี (เฉพาะเด็กชาย) 


1.3) สถาบันพระประชาบดี จ.ปทุมธานี 


1.4) สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด จ.นนทบุรี (เฉพาะเด็กชาย) 


1.5) สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านบางละมุง จ.ชลบุรี (รับเด็กชาย-หญิง) 


2) กรณีผู้สูงอายุ (แยกชาย-หญิง) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้แก่


2.1) ที่พักคนเดินทางดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 


2.2) บ้านสร้างโอกาส อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 


2.3) ศูนย์ฝึกอบรมผู้สูงอายุบางละมุง จ.ชลบุรี 


3) กรณีคนพิการ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้แก่ ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการพระประแดง จ.สมุทรปราการ

 

กางแผนงานดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับความเดือนร้อนจากโควิด -19

ส่วนกลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ยังมีความวิตกกังวลภายหลังการรักษา และยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในครอบครัวได้ พม. มีเตรียมความพร้อมทั้งด้านสถานที่รองรับ และทีมเจ้าหน้าที่สำหรับดูแล 


หากครอบครัวไหนที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 และบุคคลในครอบครัวต้องกักตัว 14 วัน ไม่สามารถออกไปนอกบ้านได้ ทางกระทรวง พม. จะประสานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่เพื่อช่วยบริการส่งอาหารให้ถึงบ้าน รวมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และข้าวสารอาหารแห้ง 


สำหรับกรณีต่างจังหวัด ได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั่วประเทศ เพื่อให้การช่วยเหลือดูแลในพื้นที่