เปิดประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละยี่ห้อ หมอยงชี้ไทยต้องการทุกตัวอย่างเร็วที่สุด

06 พ.ค. 2564 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2564 | 08:04 น.

เปิดประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละยี่ห้อ หมอยงชี้ไทยต้องการทุกตัวอย่างเร็วที่สุด ระบุวัคซีนในกลุ่ม mRNA จะมีภูมิต้านทานสูงกว่าวัคซีนอื่น

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า โควิด 19 วัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีน

ยง ภู่วรวรรณ

ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะไม่ได้ทดลอง หรือ ศึกษาพร้อมกันในสถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้

ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีน ขึ้นอยู่กับ ปัจจัยต่างๆมากมาย เช่น

1.ความชุกของโรคในขณะทำการศึกษา ถ้าความชุกของโรคสูง ตัวเลขประสิทธิภาพจะต่ำกว่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวัคซีน Pfizer ขณะทำการทดลองถึงประสิทธิภาพ มีอุบัติการณ์ของโรคในประชากร ต่ำกว่า วัคซีน Johnson and Johnson ในขณะที่ทำการทดลองในอเมริกา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดสูงสุดในอเมริกา จึงมองดูตัวเลขแล้ววัคซีนของ Pfizer จึง มีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนจอห์นสัน เพราะเป็นการนับจำนวนผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงการศึกษา

2.ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ถ้าใช้ประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่า การศึกษาในประชากรกลุ่มเสี่ยงต่ำกว่า เพราะวัคซีนส่วนใหญ่ จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ป้องกันความรุนแรงของโรค เช่น วัคซีน Sinovac ที่ทำการศึกษาที่บราซิล ใช้กลุ่มเสี่ยงสูง คือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 (Covid-19) ได้ประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับ วัคซีนเดียวกันที่ทำการศึกษาในประชากรทั่วไป ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ในตุรกี ได้ตัวเลขประสิทธิภาพที่สูงกว่า การศึกษาในบราซิล มาก

ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ

3.การนับความรุนแรงของโรค ก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่ง วัคซีนของจีน Sinovac ทำการศึกษาในบราซิล ตัวเลขประสิทธิภาพ นับจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมาก เข้าไปด้วย หรือ ระดับความรุนแรงที่เรียกว่า WHO grade 2 คือติดเชื้อมีอาการ แต่ไม่ต้องการการดูแลรักษา (no need medical attention) ซึ่งตรงข้ามกับวัคซีนอีกหลายตัว ไม่มีการกล่าวถึงความรุนแรงของโรคที่ชัดเจน ส่วนใหญ่มักจะเป็นความรุนแรงระดับ WHO grade 3 คือ

ป่วย เป็นแบบผู้ป่วยนอกไม่ต้องการนอนโรงพยาบาล แต่ต้องพบแพทย์ (need medical attention) ถ้ายิ่งนับความรุนแรงที่น้อยมากๆจะมีตัวเลขประสิทธิภาพต่ำ และถ้านับความรุนแรงตั้งแต่เกรด 4 คือป่วยต้องเข้านอนโรงพยาบาล ประสิทธิภาพจะยิ่งสูงมาก และถ้ายิ่งความรุนแรงที่สูงไปอีก ถึงเกรด 7 Grade 7 คือเสียชีวิต ประสิทธิภาพจะใกล้ 100% ของ วัคซีนเกือบทุกชนิด

4.สายพันธุ์ของไวรัส การศึกษาของ Pfizer และ Moderna ทำก่อน Johnson การทำทีหลังจะเจอสายพันธุ์ของไวรัสที่กลายพันธุ์ หลบหลีกวัคซีน ทำให้ภาพรวมของวัคซีนที่ทำก่อนมีประสิทธิภาพดีและไม่ทราบประสิทธิภาพต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ วัคซีนของจอห์นสันเห็นได้ชัดเจน การกลายพันธุ์ของไวรัสมีส่วนที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง การทำการศึกษาคนละเวลาจึงเป็นการยากที่จะมาเปรียบเทียบตัวเลขกัน

ถึงแม้ว่าจะทำในประเทศเดียวกัน เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ในการหลบหลีกประสิทธิภาพของ วัคซีน อยู่แล้ว วัคซีนของอินเดียทำการศึกษาที่หลังสุด และศึกษาในสายพันธุ์อินเดีย ก็ไม่สามารถที่จะไปเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ทำการศึกษาในอเมริกาใด้ ข้อมูลล่าสุดก็เห็นได้ชัดว่าวัคซีน Pfizer และมีประสิทธิภาพลดลง ประมาณ 20% ต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และถ้ามาเจอสายพันธุ์อินเดีย ก็อย่างที่มีข่าวฉีดวัคซีน pfizer มาแล้ว 2 เข็ม ก็มาติดเชื้อในอินเดีย เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ดังนั้นในทางปฏิบัติ ในการดูวัคซีน เราจะต้องศึกษาข้อมูลทั้งหมด แต่บางครั้งเราก็ไม่ได้ข้อมูลทั้งหมด เราจึงไม่อยากเห็นการใช้ตัวเลขที่ทำการศึกษาต่างระยะเวลากัน ต่างสถานที่กัน มาเปรียบเทียบกัน ว่าวัคซีนใครดีกว่าใคร

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการวัดระดับภูมิต้านทาน วัคซีนในกลุ่ม mRNA จะมีภูมิต้านทานสูงกว่าวัคซีนอื่นทั้งหมด สำหรับประเทศไทยเราต้องการวัคซีนทุกตัว ที่สามารถจะนำเข้ามาได้ และให้มีการใช้อย่างเร็วที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :