ไขข้อสงสัยวัคซีนโควิด-19​ ฉีดหรือไม่ฉีด​ ยี่ห้อที่มีอยู่เชื่อ​มั่นได้มากน้อยเพียงใด

11 พ.ค. 2564 | 13:03 น.

"หมอแก้ว"ไขข้อข้องใจวัคซีนโควิด -19 ย้ำซิโนแวคปลอดภัย อาการไม่พึงประสงค์ต่ำ ยืนยันวัคซีนแต่ละชนิดมีข้อดี จุดแข็ง จุดอ่อนที่แตกต่างกัน พร้อมวอนปชช.หากถึงคิวรับวัคซีนควรออกมารับโดยเร็วไม่ควรรอ

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "หมอแก้ว ผลิพัฒน์" เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด -19 โดยได้ตอบคำถามเพื่อคลายข้อสงสัยในเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจเกี่ยวกับวัคซีนที่ใช้ฉีดในประเทศไทยอย่างซิโนแวค การเปรียบเทียบวัคซีนจากบริษัทต่างๆ อาการข้างเคียง-ไม่พึงประสงค์หลังฉีด พร้อมทิ้งท้ายว่าการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความเสี่ยงต่ำกว่าการไม่ฉีดวัคซีน


สำหรับเนื้อหาโดยละเอียดของโพสต์ทั้งหมดเกี่ยวกับ "ถาม-ตอบเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19"มีดังต่อไปนี้

 

ถาม:คุณหมอฉีดวัคซีนแล้วหรือยังคะ ฉีดวัคซีนอะไร มีผลข้างเคียงอะไรบ้างคะ

ตอบ:ผมฉีดแล้วครับ ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ฉีดวัคซีนซิโนแวคครับ ฉีดทั้ง 2 เข็มก็ไม่ได้มีผลข้างเคียงอะไรครับ ฉีดเช้า บ่ายก็ไปทำงานต่อได้ วันรุ่งขึ้นก็ไม่มีอะไร สามารถทำงานได้ตามปกติครับ

 

ถาม:คุณหมอมั่นใจวัคซีนซิโนแวคหรือคะ 

ตอบ:มั่นใจครับ ส่วนตัวผมคิดอย่างนี้ครับ

ประการแรก วัคซีนของซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีที่เราคุ้นเคย เป็นวัคซีนเชื้อตาย เทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่เราใช้มาหลายปีแล้ว ปัญหาค่อนข้างน้อย ที่ผ่านมาพบว่ามีอาการไม่พึงประสงค์ค่อนข้างน้อย อาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงยิ่งพบได้น้อยมากๆ ถ้านับถึงวันนี้ ประเทศไทยเราได้วัคซีนซิโนแวคไปแล้วกว่า 1 ล้าน 3 แสนโดส ยังไม่มีใครเสียชีวิตจากวัคซีนเลย อาการแพ้เกิดขึ้นบ้าง ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง ส่วนที่แพ้รุนแรงก็ตรวจพบได้เร็วและสามารถจัดการได้เป็นอย่างดี (รูปที่ 1)

 

รูปที่ 1

 

ข้อมูลจากประเทศชิลี ซึ่งมีการใช้วัคซีนทั้งซิโนแวคและไฟเซอร์ พบว่า 


- วัคซีนทั้ง 2 ชนิดก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ แต่พบไม่บ่อย
- ซิโนแวคก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงน้อยกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ โดย
- วัคซีนซิโนแวคมีอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง 2.7 ต่อประชากรแสนคนที่ได้รับวัคซีน 
- ในขณะที่ไฟเซอร์มีมีอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง 10.3 ต่อประชากรแสนคนที่ได้รับวัคซีน (รูปที่ 2)

รูปที่ 2

ประการที่ 2 วัคซีนมีประสิทธิผลป้องกันโรคได้

 
จากข้อมูลที่ซิโนแวคยื่นให้กับองค์การอนามัยโลก


วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการประมาณ 50% ถึง 84% และ สามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ประมาณร้อยละ 85% ถึง 100% ขึ้นอยู่กับว่าทำการวิจัยที่ประเทศใด (รูปที่ 3)

รูปที่ 3

 

ถาม: แล้วทำไมการวิจัยวัคซีนที่ทำการวิจัยในประเทศต่างๆ จึงมีค่าประสิทธิผลที่แตกต่างกันคะ

ตอบ:ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยครับ เช่น ความชุกของการติดเชื้อในขณะนั้น ความรวดเร็วของการระบาด ลักษณะประชากรที่นำมาใช้ในการทำวิจัย และ ที่สำคัญมากๆ คือ แต่ละการวิจัยใช้วิธีการนับผู้ป่วยไม่เหมือนกัน บางการศึกษานับผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง บางการศึกษาวิจัยนับผู้ป่วยที่อาการค่อนข้างเบา บางการศึกษารวมผู้ติดเชื้อไม่มีอาการเข้าไปด้วย 


นอกจากนี้ สายพันธุ์ของเชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่ขณะนั้นก็มีผลต่อค่าประสิทธิผลของวัคซีนด้วยเช่นกัน 


ทั้งหมดล้วนทำให้ค่าประสิทธิผลของวัคซีนที่ได้แตกต่างกัน ทำให้เราไม่สามารถจะเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนที่ทำการศึกษาในบริบทที่แตกต่างกันได้ ขนาดตัวเลขประสิทธิผลของวัคซีนชนิดเดียวกัน ทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ยังให้ผลที่แตกต่างกันได้เลย

 

วัคซีนซิโนแวคที่รายงานผลการวิจัยว่ามีประสิทธิผลค่อนข้างต่ำ ประมาณร้อยละ 50 เป็นการศึกษาวิจัยที่ประเทศบราซิลซึ่งเชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่เป็นเชื้อสายพันธุ์บราซิล ในขณะที่การวิจัยในประเทศชิลี ซึ่งรายงานประสิทธิผลของวัคซีนที่ร้อยละ 60 เป็นการทำการวิจัยในขณะที่เชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนั้นเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์บราซิล (รูปที่ 3)

 

เมื่อเห็นผลการวิจัยจากหลายๆ ที่ ดูข้อมูลจากหลายๆ แหล่งก็ค่อนข้างโอเคครับว่าวัคซีนซิโนแวคมีอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงค่อนข้างต่ำ และมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการ และการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงได้ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งยังมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์บราซิลได้ระดับหนึ่งด้วย

ถาม:พอเข้าใจแล้วค่ะว่า เราไม่ควรนำตัวเลขผลการวิจัยจากรายงานที่ทำการวิจัยแยกกันมาเปรียบเทียบกัน ถ้าอย่างนั้น ตัวเลขประสิทธิผลของวัคซีนของไฟเซอร์ที่สูงมากถึง 95% ก็ไม่ได้แปลว่าไฟเซอร์ดีกว่าวัคซีนชนิดอื่น หรือเปล่าคะ

ตอบ:การจะตอบว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่าตัวไหนจริงๆ สามารถทำได้ ถ้าเราสามารถนำวัคซีน 2 ชนิดมาเปรียบเทียบกันแบบตัวต่อตัวในงานวิจัยวิจัยชิ้นเดียวกันที่ทำการศึกษาในประชากรเดียวกันด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่เหมือนกัน และมีสภาพแวดล้อมอื่นเหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการทำงานวิจัยแบบนี้ออกมา ทำให้การเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีน 2 ชนิด ทำได้ยากมาก

ขอยกตัวอย่างแล้วกันครับ เช่น 


ถ้าเราดูตัวเลขประสิทธิผลของไฟเซอร์และแอสตราเซเนกาที่ต่างคนต่างทำวิจัย จะพบว่าไฟเซอร์รายงานประสิทธิผลของตัวเองอยู่ที่ 95% และแอสตราเซเนการายงานประสิทธิผลวัคซีนของตัวเองอยู่ที่ 62% - 90% โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 70% ถ้าดูอย่างนี้ บางคนก็อาจจะสรุปว่าไฟเซอร์ดีกว่าแอสตราเซเนกา


แต่ปรากฏว่าเมื่อมีรายงานผลงานวิจัยอีกชิ้นนึงออกมา โดยทำการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนทั้งไฟเซอร์และแอสตราเซเนกาในประชากรเดียวกัน และเขาก็รายงานเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนทั้ง 2 ชนิดหลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไป 28-34 วัน พบว่าวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิผลสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 85% ในขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกามีประสิทธิผลสามารถป้องกันโรคได้ 94%


อย่างนี้ก็อาจจะพอพูดได้ว่าวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้เมื่อนำมาใช้จริงในภาคสนามในประชากรเดียวกันก็พบว่ามีประสิทธิผลพอๆ กัน ดูแอสตราเซเนกาจะมีภาษีเหนือกว่าไฟเซอร์เล็กน้อยด้วยซ้ำไป


ในขณะที่การวิจัยอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเก็บข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนในภาคสนามเมื่อนำวัคซีนแอสตราเซเนกาและวัคซีนของไฟเซอร์มาใช้งานจริงก็รายงานผลออกมาว่าวัคซีนทั้งแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์มีประสิทธิผลประมาณ 65%-70% และวัคซีนทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิผลในภาคสนามไม่แตกต่างกัน

 

ตรงนี้ผมแค่อยากจะบอกว่าการพยายามเปรียบเทียบคุณภาพของวัคซีนแบบแยกกันดู แล้วพยายามมาบอกว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่าตัวไหน จริงๆ แล้วไม่สามารถทำได้ และสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้มาก 

 

ในปัจจุบันที่มีกระแสความคิดที่ว่าวัคซีนไฟเซอร์ดีที่สุดก็น่าจะมาจากความเข้าใจผิดแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นยังไงเราก็ยังไม่รู้แน่ชัด เรายังไม่หลักฐานที่ยืนยันแน่นหนักว่ามันเช่นนั้นจริงๆ เลย 

งานวิจัยที่ผมยกตัวอย่างมาเพื่อแสดงว่าประสิทธิผลของวัคซีนแอสตราเซเนกากับไฟเซอร์อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันก็เป็นเพียงข้อมูลชุดแรกๆ ที่เพิ่งทะยอยออกมา เราคงต้องติดตามดูข้อมูลที่จะค่อยๆ ทะยอยออกมากันต่อไปครับ 

 

ถาม:แต่ที่คนอยากจะได้วัคซีนไฟเซอร์กับโมเดิร์นนาไม่ได้เป็นเพราะเรื่องประสิทธิผลเพียงอย่างเดียวนะคะ ซึ่งตอนนี้ก็พอเข้าใจแล้วว่าเรื่องที่คิดว่าไฟเซอร์กับโมเดิร์นนามีประสิทธิผลสูงกว่า จริงๆ แล้วยังไม่ได้มีหลักฐานชี้ชัดไปอย่างนั้น แต่ก็ยังมีเรื่องอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนอีก อย่างแอสตราเซเนกามีข่าวออกมาต่อเนื่องเรื่องการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ในขณะที่ไฟเซอร์กับโมเดิร์นนาไม่มี

ตอบ:เราไม่ได้ยินรายงานตามหน้าสื่อไม่ได้แปลว่ามันไม่เกิด


เอาเรื่องแรกก่อนนะครับ ตะกี้นี้จำได้ใช่มั้ยครับว่าข้างต้นผมเคยได้บอกไปรอบนึงแล้วว่าเมื่อเปรียบเทียบกับไฟเซอร์ ซิโนแวคเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงน้อยกว่าเมื่อทำวิจัยในประชากรเดียวกัน

คราวนี้มาเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน


มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อโควิดและการฉีดวัคซีนไว้ พอที่จะนำมาประติดประต่อได้ ดังนี้ครับ


ในผู้ติดเชื้อโควิดทั่วไป จะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังการติดเชื้อ ประมาณ 43 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคนที่ติดเชื้อ 


ในขณะที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาจะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังได้รับวัคซีน ประมาณ 5 คนต่อประชากรที่ได้รับวัคซีนหนึ่งล้านคน 


และผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดิร์นนาจะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังได้รับวัคซีน ประมาณ 4 ต่อประชากรที่ได้รับวัคซีนหนึ่งล้านคน

 

สรุปง่ายๆ ก็คือ 

1) ผู้ที่ได้รับแอสตราเซเนกามีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันจริง แต่อัตราการเกิดน้อยกว่าการติดเชื้อโควิดประมาณ 8 เท่า


2) การฉีดวัคซีนไฟเซอร์กับโมเดิร์นนาก็มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้เหมือนกัน 


3) อัตราการเกิดลิ่มเลือดหลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์กับโมเดิร์นนาต่ำกว่าอัตราการเกิดลิ่มเลือดหลังการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น


4) แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ แต่อัตราการเกิดถือว่าต่ำมาก หากเราไม่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดติดเชื้อ โอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันจะสูงกว่าการฉีดวัคซีนมาก

 

ถาม:แล้วที่อาจารย์จุฬาฯ ท่านหนึ่งอออกมาบอกว่าวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกาที่รัฐบาลจัดหามา เป็นไม่มีคุณภาพ รัฐบาลต้องไปจัดซื้อวัคซีนของบริษัทอื่น


ตอบ:ก็อย่างที่ผมชี้แจงมาโดยตลอด ผมเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าอาจารย์เขาไปหยิบเอาหลักฐานมาจากไหน และพิจารณามิติใดบ้าง


ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนรอบนี้มีความสลับซับซ้อนค่อนข้างมากครับ ไม่ได้ตรงไปตรงมา ข้อมูลค่อยๆ ทะยอยออกมา การแปลผลแต่ละเรื่องก็ต้องอาศัยความรู้ทางระบาดวิทยาพอสมควร 


ผมคิดว่าถ้าเราไม่เร่งรีบที่จะให้ข้อสรุป ศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบด้าน และที่สำคัญที่สุดคือถ้าเราไม่ให้ความเห็นด้วยจิตอคติ ให้ความเห็นด้วยความใจที่เป็นธรรม เราก็น่าจะสามารถให้ข้อสรุปที่ถูกต้องครับ

 

ผมขอสรุปสิ่งที่ผมได้ตอบคำถามและแสดงหลักฐานไปแล้วเป็นข้อๆ ให้ฟังอีกรอบนะครับ


1) วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการได้ดี ป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงได้ดีมาก แถมยังสามารถป้องกันสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์บราซิลได้ด้วย


2) วัคซีนซิโนแวคค่อนข้างปลอดภัย มีการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงค่อนข้างต่ำ ทั้้งยังมีข้อมูลที่เปรียบเทียบอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงเทียบกับไฟเซอร์ปรากฎว่าวัคซีนซิโนแวคมีอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงน้อยกว่าไฟเซอร์


3) เราไม่ควรนำผลการวิจัยคนละชิ้นที่ทำงานวิจัยคนละพื้นที่ ประชากรคนละกลุ่ม เชื้อคนละสายพันธุ์ มาเปรียบเทียบกัน ถ้าอยากรู้ว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่ากันต้องทำการวิจัยเปรียบเทียบกันโดยตรง วัคซีนตัวหนึ่งที่รายงานประสิทธิผลสูงกว่าวัคซีนอีกตัวหนึ่ง เมื่อนำมาใช้ในภาคสนามก็อาจจะไม่ได้เหนือกว่าวัคซีนอีกตัวหนึ่งจริงๆ ก็ได้


(ผมยกตัวอย่างเปรียบเทียบวัคซีนไฟเซอร์กับแอสตราเซเนกาไว้แล้วข้างต้น) ซึ่งการเลือกใช้วัคซีนจะขึ้นอยู่กับว่าเรามียุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนอย่างไรด้วย เช่น ถ้าเราต้องการจะเร่งฉีดวัคซีนให้กว้างขวางที่สุด วัคซีนแอสตราเซเนกาจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง


4) เมื่อเทียบอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีน โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นข่าวและเรากลัวๆ กันก็คือการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ปรากฎว่าแอสตราเซเนกา ไฟเซอร์ และโมเดิร์นนามีอัตราการเกิดลิ่มเลือดอุดตันใกล้เคียงกัน และน้อยกว่าโอกาสการเกิดลิ่มเลือดจากการติดเชื้อโควิดมาก


5) วัคซีนแต่ละชนิดมีข้อดี จุดแข็ง และจุดอ่อนของแต่ละตัวที่แตกต่างกัน จริงๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบกันยากครับ นี่เราดูแค่ 2 มิติเท่านั้นนะครับ ก็ยังสับสนมากเลย แต่ในการทำงานจริง เรายังต้องพิจารณาเรื่องราคา เวลาที่จะบริษัทสามารถส่งมอบวัคซีน การจัดการเรื่องห่วงโซ่ความเย็น และมิติเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องนำมาพิจารณา

 

ข้อเสนอของบริษัทวัคซีนเองก็เปลี่ยนไปเรื่อย บางบริษัทแต่เดิมบอกไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ก่อนไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่หลังจากที่เราสามารถจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นได้อย่างต่อเนื่อง ก็กลับมาบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสามารถส่งวัคซีนให้ได้ในไตรมาส 3 

ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราก็ควรต้องค่อยๆ ศึกษา รับรู้ เรียนรู้ และนำมาปรับความคิด และตัดสินใจต่อไป

อีกอย่างเราไม่ควรตื่นตูมด่วนสรุปไปเพียงเพราะได้ฟังอาจารย์บางท่านซึ่งก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน และไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาแต่อย่างใด ออกมาวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขจัดหา

ไม่ควรตื่นตูมไปกับข่าวสารทางสื่อโซเชียลมีเดีย 


ไม่ควรด่วนสรุปจากคลิปข่าวเพียงข่าวเดียว โดยเฉพาะข่าวที่ไม่มีที่มาที่ไป ไม่ควรด่วนสรุปจากบทความทางวิชาการเพียงบทความเดียว 


ใจเย็นๆ ค่อยๆ ติดตามดูข้อมูลหลักฐานต่างๆ ไป ค่อยๆ เรียนรู้ไป ยังมีอีกเยอะครับที่เรายังไม่รู้และต้องเรียนรู้กันต่อไป


ผมเห็นว่าช่วงนี้สังคมสับสนมากครับเรื่องวัคซีน ต้องขอทั้งคนให้ข่าว และคนรับข่าว คนให้ข่าวต้องให้ข่าวเกี่ยวกับวัคซีนที่สร้างสรรค์ อย่างสร้างสี ไม่ควรให้ข่าวบิดเบือนเพื่อสร้างความร้อนรน ต้องให้ข่าวที่ถูกตรง เพื่อให้สังคมเย็นลง  คนรับข่าวต้องใจเย็น มีสติ รับสารอย่างมีวิจารณญาณ

ถาม:คุณหมอมีอะไรจะฝากให้ประชาชนอีกบ้างคะ


ตอบ:ผมฉีดวัคซีนครบแล้วครับ และมีคนไทยอีกกว่า 1ล้าน 2  แสนคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว  มีผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง 13 คน และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีคนไทยที่เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิดเลย  ในขณะที่ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยแล้วกว่า 86,000 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 450 คน

 

คำแนะนำง่ายๆ ของผมสำหรับเรื่องวัคซีนในปัจจุบัน  เมื่อถึงคิวของท่าน ท่านควรออกมารับวัคซีนโดยเร็ว ไม่ควรรอ  การฉีดวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความเสี่ยงต่ำกว่าการไม่ฉีดวัคซีนเยอะมากครับ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง