รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความว่า
แนวทางการฟื้นฟูประเทศ จากวิกฤตการณ์โรคระบาดร้ายแรง (ตอนที่ 2)
การตรวจหาผู้ติดเชื้อในเชิงรุกที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทางศูนย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ได้เคยเสนอไปยังรัฐบาลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์–มีนาคม 2563 โดยใช้วิธีการตรวจเลือด กล่าวคือ เมื่อคนติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อ
ซึ่งกรณีของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันประมาณ 4 วันหลังจากติดเชื้อ ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ได้ใช้การตรวจเลือดมาตรฐาน ซึ่งสามารถบอกภูมิคุ้มกันได้ 3 ระดับ โดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงก็จะทราบผล แต่อาจจะไม่ทันใจ
โดยวิธีดังกล่าวถือว่าเป็นการตรวจที่ทราบผลเร็วและมีความจำเพาะ 100% คือ หากไปติดเชื้อไวรัสตัวอื่นจะให้ผลเป็นลบทั้งหมด และถ้าเลือดเป็นบวก แสดงว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น ต้องทำการตรวจต่อว่ามีการปล่อยเชื้อได้หรือไม่
นอกจากนี้ การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์แอฟริกา บราซิล และอื่นๆที่ทยอยออกเรื่อยๆด้วยวิธี RT-PCR พบว่า ไม่สามารถตรวจหาเชื้อได้ทั้งหมด กล่าวคือ หากใช้วิธีดังกล่าวกับชุดตรวจแบบหนึ่งจะตรวจเจอ แต่อีกแบบหนึ่งกลับตรวจไม่เจอ แต่หากตรวจด้วยวิธีตรวจเลือดจะยังคงให้ผลเป็นบวก 100%
โดยผลการตรวจ 11 คน ใน 15 คน ของคนไทยที่กลับจากซูดานในเดือนตุลาคม 2563 สามารถให้ผลเป็นบวกได้ตั้งแต่การตรวจวันแรก และเมื่อเจาะเลือดคนที่เหลือภายใน 14 วันก็ตรวจเจอทั้งหมด โดยการตรวจหาเชื้อด้วยการแยงจมูกด้วยวิธี RT-PCR พบ 5 รายในวันแรก, 6 รายในวันที่ 3, 3 รายในวันที่ 5 และ 1 รายในวันที่ 9 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตและเป็นข้อระวังว่า ถ้าเป็นสายพันธุ์ผิดเพี้ยน การตรวจเลือดแทนที่จะได้ผล 100% ในวันแรกจะยิ่งมีข้อจำกัด แต่โดยรวมการใช้วิธีตรวจเลือดมีกระบวนการที่ถูกกว่าและง่ายกว่าวิธีการแยงจมูก
แต่ทั้งนี้ การตรวจโดยเจาะเลือดต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมง หากจะส่งการตรวจหาเชื้อโควิด-19 มาจากพื้นที่ชายแดน และจากภูมิภาคต่างๆมายังส่วน กลาง ก็อาจจะใช้เวลาบ้าง โดยในเบื้องต้นได้มีการเสนอข้อมูลชุดนี้ให้ทางรัฐบาลพิจารณาแล้วประมาณ 6 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติเป็นการตรวจเชิงรุก
ในส่วนของชุดตรวจปลายนิ้ว ปัจจุบันมีหลายยี่ห้อที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรองและอนุมัติ แต่ยังไม่ตอบโจทย์ในสถานการณ์ปัจจุบันเลย กล่าวคือ การคัดกรองต้องไม่หลุดและต้องไว 100% โดยในส่วนของชุดตรวจปลายนิ้วของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด (ใช้เวลา 2 นาที) และชุดตรวจมาตรฐานของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ดังที่กล่าวข้างต้น (เวลา 3 ชั่วโมง) ใช้ตัวจับภูมิคุ้มกันในเลือดที่แสดงสภาวะการติดเชื้อตัวเดียวกัน คือ RBD ซึ่งจะไม่เหมือนกับชุดตรวจอื่น
กล่าวคือ ถึงแม้ว่าจะใช้วิธีการตรวจเลือดในการหาหลักฐานของการติดเชื้อ แต่หากใช้น้ำยาในการตรวจไม่เหมือนกัน ก็จะแสดงผลไม่เหมือนกัน จึงไม่อาจจะสรุปว่าการเจาะปลายนิ้วในการหาเชื้อโควิด-19 ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งเนื่องจากผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย การออกกฎหมายและการอนุมัติไม่ใช่บุคคลที่ทำงานด้านการวิจัยเกี่ยวกับโรคระบาดไม่ทราบกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จึงอาจให้ความสำคัญกับการพิจารณารายงานการวิจัยของต่างประเทศเป็นหลักโดยไม่มีความชัดเจนในการตีความหมายโดยปัจจุบันบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ใช้ชุดตรวจเจาะปลายนิ้วในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และกำลังพัฒนาไปสู่การผลิตวัคซีน
ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการทดสอบในหนูและลิงแล้ว และในเดือนมิถุนายน 2564 ก็จะนำมาทดสอบในมนุษย์ครั้งที่ 1 โดยถ้าทำสำเร็จประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้ในราคาถูก เพราะวัคซีนดังกล่าวนี้ทำมาจากใบยาพืช คือ สร้างทำโปรตีนวัคซีนโดยใช้ใบยาพืชนั่นเอง และผลิตเป็นจำนวนมหาศาลได้
การป้องกันและควบคุมโรคระบาด ต้องคัดกรองผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุดและกักตัวแยกตัวออกไป และต้องคัดกรองได้ทั้งในระดับมวลชน ได้แก่ ด่านตรวจคนเข้าเมือง โรงงาน โรงเรียนและระดับบุคคล
เพราะฉะนั้น การตรวจคัดกรองจึงต้องง่าย สามารถเข้าถึงได้ทุกคน ไม่ว่าจะรวยหรือยากดีมีจน ต้องสามารถตรวจได้หมด และใช้เวลาเพียง 2 นาที ถ้าเราสามารถทำได้ ถูก เร็ว ดี ก็จะตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจได้ กล่าวคือ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ต้องมาพร้อมกับความปลอดภัยของคนไทยในประเทศ
ซึ่งการกำหนดสีให้แต่ละจังหวัดอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากในแต่ละจังหวัดจะมีคนที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการปะปนอยู่ เมื่อไปทำงาน พบปะผู้คน หรือไปทำกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก ก็จะแพร่เชื้อไปเรื่อยๆ โดยเคยมีการคำนวณว่าใน 1 เดือน ผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ถึง 1,700 คน
มาตรการในการฟื้นฟูประเทศไทยจากสถานการณ์การระบาดด้วยวิธีการตรวจเชิงรุกให้ได้ 100% ต้องใช้กระบวนการตรวจที่ถูก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ในส่วนของใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นการตรวจเชื้อเลือดจากปลายนิ้วและในส่วนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นการตรวจยืนยันด้วยวิธีการเจาะเลือด และใช้ตรวจคัดกรองเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในทำเนียบรัฐบาล โดยตรวจจำนวน 380 คน
ปรากฏว่า พบมีเลือดบวกจากการเจาะปลายนิ้ว จำนวน 9 คน จึงได้แยกตัวเจ้าหน้าที่ที่ผลตรวจเป็นบวกมาตรวจซ้ำที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ปรากฏว่าเป็นผลบวกปลอม คือ ไม่ติดเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ ผลบวกปลอมจะเป็นเท่ากับ 2.6% แต่ถ้าตรวจด้วยวิธีการแยงจมูก จะมีค่าใช้จ่ายต่อรายประมาณ 2,200 บาท และการตรวจด้วย วิธีการแยงจมูกเพียงครั้งเดียวอาจจะไม่สามารถทราบผลได้อย่างแน่นอน แต่จะต้องมีการแยงจมูกซ้ำ 2–3 ครั้ง
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจโดยชุดตรวจเลือดปลายนิ้วก่อนและยืนยันต่อด้วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะมีราคาที่ประหยัดกว่าและสามารถรู้ผลการตรวจได้อย่างรวดเร็ว ชุดตรวจเลือดดังกล่าวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรนำมาใช้การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในทำเนียบนั้นถ้าตรวจแยงจมูก 350 คน จะเท่ากับ 770,000 บาท แต่ตรวจปลายนิ้วเท่ากับ 70,000 บาท และตรวจซ้ำ 9 คนด้วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะเท่ากับ 9,000 บาท
หากสามารถตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้แยกตัวผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และสามารถป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น และสามารถบริหารจัดการในเรื่องจำนวนเตียงในการรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ในระหว่างการรอวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงต่อไป
หมอดื้อ
คอลัมน์ บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ กองบรรณาธิการ วารสารจุลนิติ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แพทยศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญ สาขาอายุรกรรม และอายุรกรรมประสาท แพทยสภา Fellow of Neurology & Neuroimmunology, University School of Medicine U.S.A., Johns Hopkins หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ อาคาร อปร.ชั้น 9
https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/health/209321
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :