รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า
ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในฤดูฝน !! คลัสเตอร์โควิดทยอยปรากฏรายวัน จำเป็นต้องตัดสินใจใช้มาตรการเข้มข้น ก่อนที่วัคซีนจะมีผลในอีกสองเดือนข้างหน้า
จากสถานการณ์โควิดระบาดระลอกที่สามของประเทศไทย มีจุดเปลี่ยนแปลงจากระลอกหนึ่งและสองที่สำคัญคือ เป็นไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ ที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ง่าย ได้รวดเร็ว และกว้างขวางขึ้นถึง 70% มาตรการเข้มงวดต่างๆ ที่เคยใช้ได้ผลในระลอกหนึ่งและสองที่ผ่านมา อาจจะไม่สามารถคุมสถานการณ์ไว้ได้อย่างเคย ขณะนี้ มีรายงานคลัสเตอร์ต่างๆ ทยอยปรากฏขึ้นตลอดเวลา เฉพาะในกรุงเทพมหานครมีแล้ว 32 คลัสเตอร์ใน 26 เขต และยังมีในเขตปริมณฑล และต่างจังหวัดด้วย อาทิเช่น
มีรายงานพบแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่เคยก่อสร้างอาคารรัฐสภา (แต่โชคดีว่าขณะนี้งานเสร็จแล้ว) และย้ายไปก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตรวจพบรวดเดียว 519 คน จาก 900 คน คิดเป็น 57.7% แคมป์อยู่ที่ถนนพิบูลสงคราม ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
ถัดไปคือแคมป์ที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี คือ แคลคอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ ที่ตำบลสระพัง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี หลังจากที่ทยอยตรวจพบอัตราการติดเชื้อ 50-60% วันนี้ติดเชื้อเพิ่มอีก 678 ราย รวมคลัสเตอร์นี้ ติดเชื้อทั้งสิ้น 2789 ราย เกินกว่าโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้ 2400 เตียงจะรองรับไหว ต้องสร้างเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหลังเป็น 4800 เตียง
แล้วยังมีคลัสเตอร์ที่คอนโด จังหวัดสมุทรปราการ อีก 81 ราย ทำให้จังหวัดสมุทรปราการมีติดเชื้อเพิ่มวันนี้ 180 ราย
ส่วนสองคลัสเตอร์ใหม่ในกรุงเทพฯ ได้แก่
1.คลัสเตอร์โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ซอยประชาอุทิศ 91 เขตทุ่งครุ พบ 29 ราย
2.คลัสเตอร์สถานดูแลผู้สูงอายุเอกชน เขตบางแค อีก 23 ราย
ถ้าเราไม่ใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์แคมป์คนงานทั้งตำบล หรืออาจจำเป็นทั้งอำเภอในบางพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ เราจึงจะสามารถคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ซึ่งหมายความว่า
1.ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน จะต้องน้อยกว่าผู้ติดเชื้อที่ออกจากโรงพยาบาลได้
2.จำนวนผู้ที่นอนในโรงพยาบาลหลัก ต้องลดลง
3.จำนวนผู้ป่วยหนัก จำนวนผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องลดลง
4.จำนวนผู้เสียชีวิตต้องลดลง
เพื่อคุมสถานการณ์ ที่จะส่งผลให้กระทบสี่ประเด็นดังกล่าวให้มากที่สุด แล้วรอให้การระดมฉีดวัคซีนเป็นไปได้โดยรวดเร็ว หวังผลเข็มแรก (ซึ่งภูมิต้านทานเพียงพอในวัคซีนของAstraZeneca) ในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม ซึ่งจะมีวัคซีนเข้ามาเกือบ 20 ล้านเข็ม ต้องระดมฉีดให้ได้ 20,000,000 คนในสองเดือนข้างหน้านี้ เน้นในเขตที่มีการระบาดสูง (สีแดงเข้ม) ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือต่างจังหวัดบางตำบล บางอำเภอ เช่น ที่อ.เขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการที่บริษัท แคลคอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ ประเทศไทย จำกัด ล่าสุดวันนี้ 24 พ.ค. 2564 มีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มเติมจากผลแลปเป็นผู้ติดเชื้อใหม่จากคลัสเตอร์แคลคอมพ์จำนวน 678 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,789 ราย ส่งผลทำให้จังหวัดเพชรบุรี ยอดติดเชื้อโควิด 19 ยังสูง โดยเป็นอันดับ 2 ของประเทศในการพบติดเชื้อรายวันจำนวน 669 ราย รองจากกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ดี จากการจำนวนมากดังกล่าวของบริษัท แคลคอมพ์ฯ ทำให้ต้องมีการขยายโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของบริษัทแคลค่อมพ์ฯ เพิ่มโดยใช้อาคารโรง 12 ปรับเป็นโรงพยาบาลสนามหลังที่สอง เพิ่มเติมในการรองรับแรงงานที่ติดเชื้อ จากเดิมที่มีการตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของบริษัทฯ ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 2,400 เตียง
อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนของประเทศไทยจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-23 พ.ค. 64 มีการฉีดแล้วจำนวน 2,910,664 โดส ประกอบด้วย เข็มที่ 1 สะสมอยู่ที่จำนวน 1,941,565 ราย และเข็มที่ 2 สะสมอยู่ที่จำนวน 969,099 ราย
ข่าวที่เกิดขึ้น :