รายงานข่าวระบุว่า ศาสตราจารย์ นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda โดยมีข้อความว่า ตามที่มีข่าวประกาศของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในราชกิจจานุเบกษาวันสองวันที่แล้วนั้น ผมขอค่อยๆ อธิบายทุกๆท่านให้เข้าใจตรงกันตามนี้ครับ
1. การที่ราชวิทยาลัยฯ จะมาช่วยจัดหาวัคซีน”ตัวเลือก”มาให้นั้น เมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาด ทางราชวิทยาลัยจะค่อยๆ ลดปริมาณวัคซีน”ตัวเลือก”นี้ลง เช่นเดียวกับ ยา และเวชภัณฑ์อื่นๆที่สามารถผลิตได้ในประเทศ ราชวิทยาลัยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในประเทศ โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
2. สำนักงานราชวิทยาลัยที่เป็นส่วนงานยังต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการผลิต นำเข้า ร่วมทั้งการให้อนุญาตเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินนี้
3. ประกาศที่ได้ประกาศไปนี้เป็นการประกาศตามภารกิจของราชวิทยาลัยตามพรบ.จัดตั้งราชวิทยาลัย อันเป็นภารกิจปกติ
4. ในส่วนของประกาศนี้นั้น เป็นไปตามความเห็นของสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ โดยใช้ศักยภาพของราชวิทยาลัยในเรื่องวิชาการ วิจัย และการประสานงานติดต่อกับต่างประเทศ
5. ราชวิทยาลัยฯ และกระทรวงสาธารณสุข ทำงานประสานงานกันในเรื่องต่างๆ มาก่อนหน้านี้นานแล้ว เพื่อสุขภาพและการสาธารณสุขที่ดีของประเทศไทย
นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ๒๗ พ.ค. ๒๕๖๔
ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวเกิดจากเมื่อวันที่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ระบุว่า
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้นเพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือ ผู้ยากไร้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นไปอย่างทั่วถึง และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๙ วรรคสอง ประกอบกับ มาตรา ๒๒ (๒) แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการประชุมครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยคําแนะนําและคําปรึกษา จากประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามมาตรา ๒๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ จึงออกประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ไว้ ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๒ ในประกาศนี้“พระราชบัญญัติ” หมายความว่า พระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๙และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐“การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข” ให้หมายความรวมถึง การป้องกัน หรือบําบัดโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมและฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการดําเนินการอื่นใด ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จัดหา ผลิต ขาย หรือนําเข้า หรือขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จําเป็นหรือเกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งที่ดําเนินการในประเทศ และในต่างประเทศ
ข้อ ๓ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ ให้สํานักงานราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์มีหน้าที่และอํานาจในการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ และมีอํานาจในการออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุข ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติ และประกาศฉบับนี้
ข้อ ๔ ให้เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้แทนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ และให้มีอํานาจในการตกลงความร่วมมือ กับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อาจมอบหมายหรือมอบอํานาจให้หน่วยงานของรัฐอื่นใด หน่วยงานภาคเอกชน บุคคล นิติบุคคล ทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้ได้รับมอบหมาย หรือได้รับมอบอํานาจดําเนินการแทนได้
ข้อ ๕ การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ของสํานักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตามประกาศฉบับนี้ ให้ดําเนินการโดยคํานึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสําคัญ โดยให้พิจารณาถึงความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นการเฉพาะ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รายงานการดําเนินการตามประกาศฉบับนี้ให้ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ
ข้อ ๖ ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ ที่จําเป็น ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดหามาเพื่อการให้บริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ถือเป็นทรัพย์สินของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ใช้ประโยชน์ เกี่ยวกับการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีทั้งปวง ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติ
ข้อ ๗ ให้เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขอรับคำปรึกษาในกิจการทั้งปวงจากประธาน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการดำเนินการให้การบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ข้อ ๘ การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ก่อนวันที่ประกาศนี้ มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ ๆ ที่ดำเนินการตามประกาศฉบับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ศาตราจารย์ ดร. พระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีกรมพระศรีสวางควัฒน วรขัติยราชนารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :