thansettakij
 จบดราม่า “แอคแคป แอสเซ็ทส์” เลขาอย.เผยไม่พบขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม

จบดราม่า “แอคแคป แอสเซ็ทส์” เลขาอย.เผยไม่พบขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม

28 พ.ค. 2564 | 10:26 น.

จบดราม่า “แอคแคป แอสเซ็สท์” เลขาธิการ อย.เผยตรวจสอบข้อมูลแล้วบริษัทนี้ไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มและไม่ได้มาขึ้นทะเบียน

จากกรณีที่ บริษัท แอคแคป แอสเซ็สท์ จำกัด เป็นตัวแทนของ TELLUS AGROTECH PTE. LTD. ผู้จัดจำหน่ายวัคซีนโควิด ซิโนฟาร์ม ในภูมิภาคเอเชีย จำนวน 20 ล้านโดส เสนอให้รัฐบาลไทยแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข แต่ไม่ให้เข้าพบจึงได้ไปเสนอขายให้กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

หลังจากนั้น ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกมาโพสต์ข้อความสวนกลับ ว่า เห็นหนังสือนี้ร่อนไปทั่วบนระบบออนไลน์ โดยที่ คนที่หนังสือนี้ส่งถึงยังไม่ได้เห็นหนังสือตัวเป็นๆเลย อย่างไรก็ดีถึงจะมาพบก็คิดว่าคงไม่ได้พบเหมือนกัน เพราะจากที่พยายามช่วยหาวัคซีน"ตัวเลือก"มาเพิ่มเติมระยะหนึ่งนั้น มีบริษัทหรือกลุ่มคนมากมาย ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของวัคซีนโน้นวัคซีนนี้ มากกว่าสิบกลุ่ม 

ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา  ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ แถลงนำเข้าวัคซีน ‘ซิโนฟาร์ม’ หรือ ‘Sinopharm’ โดยมี นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงข่าวและได้ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับ บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ที่ทำหนังสือไปถึงราชวิทยาวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่า สามารถจัดหาวัคซีน 20 ล้านโดสได้นั้นทาง อย.ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัทนี้ไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าและไม่ได้มาขึ้นทะเบียนกับ อย. ดังนั้นจึงขอย้ำอีกว่า บริษัทไหน ขึ้นทะเบียน บริษัทนั้นจะสามารถนำเข้าได้อย่างเดียวเท่านั้นซึ่งการนำเข้าก็จะต้องรับรองสถานที่ผลิตยา หากไม่ตรงกันก็ถือว่าเป็นยาปลอมด้วยเช่นกัน

เมื่อพลิกดู บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ปรากฏว่า จดทะเบียนจัดตั้ง 13 เมษายน 2563 ทุน 5,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 33/1 ชั้น 3 ห้อง 301 ซอยพหลโยธิน 2 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร  ประกอบธุรกิจซื้อเเละการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย  มีนายกรกฤษณ์ กิติสิน  นายศวิษฐ์ อุทัยเฉลิม เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เมษายน 2563  นาย กรกฤษณ์ กิติสิน ถือหุ้นใหญ่สุด 50% มูลค่า 2,500,000 บาท  นาย ศวิษฐ์ อุทัยเฉลิม ถืออยู่  49% มูลค่า  2,450,000 บาท  บริษัท เพลย์เอ็มมิเนนท์ จำกัด ถืออยู่ 1%  50,000 บาท ในฐานข้อมูลออนไลน์ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฎข้อมูลงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจแต่อย่างใด

เปิดคุณสมบัตินำเข้าวัคซีน

นายแพทพย์ไพศาล กล่าวต่ออีกว่า สำหรับคุณสมับติ อย. บริษัทที่จะนำเข้ายาที่สำคัญคือ มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย /มีสถานที่เก็บยา /และมีคนดูแลเรื่องยา คือ เภสัชกร ส่วนอื่นๆเป็นคุณสมบัติทั่วไป แม้จะไม่เคยมาติดต่อ ก็สามารถเป็นผู้ได้รับอนุญาตได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญให้ตรงตามที่กำหนด และจะต้องเป็นบริษัทด้านยา ที่เป็นเอกสารข้อมูล เรียกว่า โดซิเออร์ ได้

ไฟเขียววัคซีนซิโนฟาร์ม

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนของซิโนฟาร์ม ว่า ขณะนี้ อย.ได้อนุมัติวัคซีน ซิโนฟาร์ม ที่นำเข้าโดยบริษัทไบโอจีนีเทค เป็นวัคซีนรายการที่5 ของประเทศไทยแล้ว โดยเป็นการขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน ผลิตขึ้นโดยสถาบันวัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย และมีการรับรองให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินจากองค์กรอนามัยโลก โดยวัคซีน ซิโนฟาร์มจะใช้ 2 โดส ห่างกัน 28 วัน ส่วนการขึ้นทะเบียนวัคซีน ที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินของไทย

อนุมัติวัคซีนแล้ว 5 ตัว

จนถึงตอนนี้ อย.ได้อนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ไป 5 ตัว คือ แอสตร้าแซนเนก้า ,ซิโนแวค ,จอห์นสัน แอนด์จอห์นสัน ,โมเดอร์น่า และซิโนฟาร์ม  ซึ่งโควิดวัคซีนที่เป็นการนำเข้า ทุกราย ไม่ว่า รัฐบาล หรือ บริษัทเอกชน จะมีข้อปฏิบัติ  6 ขั้นตอน คือ 1.จะต้องยื่นคำขอใบอนุญาตสถานประกอบการด้านยา เพื่อเป็นผู้รับอนุญาตนำเข้า 2. ยื่นคำขอหนังสือรับรองมาตรฐานสถานผลิตยา ซึ่งต้องเป็นหนังสือรับรองตามมาตรฐานสถานที่ผลิตยาในต่างประเทศ  3.ตรวจสอบความครบถ้วนคำขอเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีน ซึ่งบริษัทที่จะขึ้นทะเบียนกัน อ.ย.จะต้องเป็นตัวแทนบริษัทผู้ผลิต ที่เป็นตัวแทนจริงๆ เพราะต้องมีเอกสารที่จะนำมาขึ้นทะเบียน 4.ประเมินวิชาการ โดย อย.จะตรวจสอบความครบถ้วนในเอกสารต่างๆ ทั้งการประเมินความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิผล และแผนการจัดการความเสี่ยงของวัคซีนภายใน 30 วัน 5.ประชุมคณะกรรมการขึ้นทะเบียนวัคซีน และ 6.อนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีน

 

วัคซีนโควิด วัคซีนโควิด

เลขาธิการ อย. ย้ำว่า ผู้ที่ได้ทะเบียนวัคซีนเท่านั้น  จึงจะนำเข้าวัคซีนมาได้ ดังนั้นคนที่จะเอาโควิดวัคซีนเข้ามา จะต้องติดต่อมาที่ อย. เป็น ที่แรก พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้ปิดกั้นภาคเอกชนในการการนำเข้าและขึ้นทะเบียนวัคซีนที่เข้ามาในประเทศ แต่จะต้องขึ้นทะเบียนก่อน เพราะวัคซีนซิโนฟาร์มก็เป็นของเอกชน