จากกรณี ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ วันนี้ (6 มิถุนายน) รวม 2,671 ราย และมียอดผู้เสียชีวิต 23 ราย โดยอันดับหนึ่งยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร 675 ราย รองลงมา สมุทรสาคร 288 ราย และ เพชรบุรี 196 ราย
ขณะเดียวกัน ศบค. เผยในกรุงเทพมหานคร มีคลัสเตอร์การแพร่ระบาดใหม่ อีก 5 คลัสเตอร์ในพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ ดุสิต, ราชเทวี, ลาดพร้าว และวัฒนา ทำให้ปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการแพร่ระบาดแล้ว 63 คลัสเตอร์ แบ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด, กลุ่มเฝ้าระวัง และกลุ่มที่พบใหม่ ดังนี้
โดย 5 คลัสเตอร์ที่พบใหม่ ได้แก่ เขตดุสิต (ตลาดเทเวศร์), เขตราชเทวี (ชุมชนเพชรบุรี ซอย 10/ ซอยหลังโรงเรียนกิ่งเพชร), เขตลาดพร้าว (แคมป์คนงานก่อสร้าง บ.ชิโน-ไทย) และเขตวัฒนา (ชุมชนมาชิม และชุมชนเฉลิมอนุสรณ์)
ล่าสุด กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. ได้เปิดเผย ผลการตรวจสอบแคมป์คนงานก่อสร้างใน กทม. ระหว่างวันที่ 24 พ.ค. - 7 มิ.ย. 64 โดยพบว่ามีแคมป์คนงานก่อสร้างที่ผ่านเกณฑ์ 270 แห่ง และไม่ผ่านเกณฑ์ 97 แห่ง โดยขณะนี้มีแคมป์คนงานก่อสร้างที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว 367 แห่งจากแคมป์คนงานทั้งหมด 409 แห่ง จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการ/นายจ้างอย่าเคลื่อนย้ายแรงงานควรควบคุมให้อยู่ในเฉพาะพื้นที่ เพื่อไม่ให้มีการแพร่เชื้อโควิด-19 ไปยังพื้นที่อื่นๆ
"ฐานเศรษฐกิจ" คัดเนื้อหาบางช่วงบางตอน จากงานประชุมเชิงปฎิบัติการ “มาตรการการจัดการแคมป์แรงงานก่อสร้างในสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วม EP.2 ” ซึ่งจัดโดยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยมีใจความสรุปถึงปัญหาการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง ว่า ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีแคมป์แรงงานกระจายตัวอยู่ในทุกเขตมีจำนวน 409 แห่ง รวม 62,169 คน แบ่งเป็นแรงงานไทยราว 26,000 คน แรงงานต่างด้าวราว 36,000 คน
ความเสี่ยงในแคมป์คนงานก่อสร้าง ส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต สุขอนามัย และวัฒนธรรม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอให้ผู้ประกอบการร่วมดำเนินการปรับปรุง ออกแบบระบบ ยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของแรงงาน ทั้งด้านการกิน อยู่อาศัย การนอน ห้องน้ำ น้ำดื่ม เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งการผลักดันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตามแนวทางการจัดการแคมป์คนงานก่อสร้างในช่วงนี้ อาจจะไม่ต้องรอการตรวจแบบ swab แต่อาจเลือกใช้วิธีการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำลาย เพื่อจัดการพื้นที่ตามระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาด ซึ่งจะแยกได้เป็น 3 กลุ่ม และหากพบผลบวกมากกว่า 10% ก็อาจจะต้องเริ่มใช้มาตรการ Bubble & Seal
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง