วันนี้ 7 มิ.ย.64 เป็นวันที่รัฐบาล โดยศบค. และกรุงเทพมหานคร ปูพรม "ฉีดวัคซีนโควิด" เป็นวาระแห่งชาติทั่วประเทศ ซึ่งจะได้เริ่มฉีดทั้งผู้ที่จองคิวผ่านระบบ "หมอพร้อม" เอาไว้ก่อนหน้านี้ รวมทั้ง "www.ไทยร่วมใจ.com ของกทม. และระบบของ ประกันสังคม มาตรา 33"
ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูลวาระแห่งชาติในการฉีดวัคซีนโควิด ดังนี้
หมอพร้อม
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 มิ.ย. จะเป็นวันที่เริ่มต้นการฉีดจำนวนมากในทุกพื้นที่ ซึ่งครั้งนี้จะมีวัคซีนทั้ง แอสตราเซนเนก้า และ ซิโนแวค การจัดการจะมีทั้งการเตรียมการพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกทม. และต่างจังหวัดจะมีโรงพยาบาลระดับจังหวัด โรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่นๆ ร่วมดำเนินการ
ทั้งนี้ จุดใหญ่เช้าวันที่ 7 มิ.ย.นี้จะอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ ที่มีการทดสอบระบบแล้ว โดยครั้งนี้จะเป็นการฉีดให้กลุ่มที่ 2 คือ
ซึ่งคนที่จองสิทธิฉีดและขึ้นทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” ตั้งแต่พ.ค.ที่ผ่านมาก็จะได้รับการฉีดวัคซีนตามนัดหมายของสถานพยาบาล ส่วนการลงทะเบียนเพิ่มเติมอื่นๆก็จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น
“ลักษณะการฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิ.ย. จะทำให้เห็นว่าการเข้าถึงการฉีดวัคซีนเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มคือผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และมีระบบการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ด้วย ซึ่งขณะนี้ทุกโรงพยาบาลได้ทยอยรับวัคซีนเพื่อเตรียมการแล้ว และจะคิกออฟพร้อมกันในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ส่วนชาวต่างชาติเข้าถึงได้เช่นกัน แต่เป็นการลงทะเบียนล่วงหน้า” นพ.โสภณ กล่าว
นายแพทย์โสภณ กล่าวด้วยว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ที่ลงทะเบียนหมอพร้อม มีแนวโน้มได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นหลัก แต่ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาหรือขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย
ไทยร่วมใจฯ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำหรับหน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ทั้ง 25 จุด ในโครงการไทยร่วมใจฯ ขณะนี้มีความพร้อมให้บริการประชาชนทุกแห่ง ทั้งในด้านระบบบริการ ด้านการบริหารจัดการวัคซีนในแต่ละจุด และการวางแผนการฉีดวัคซีน มีความพร้อมให้บริการแก่ประชาชนที่ลงทะเบียนจองฉีดวัคชีนโควิด-19 ในผ่านระบบ “ไทยร่วมใจ"
ขอให้ประชาชนมาตามวัน เวลาสถานที่ที่นัดหมาย ตามที่ระบบส่ง sms ไปให้ ไม่ต้องกังวลว่ามาแล้วจะไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ยืนยันว่าหากมาตามนัดจะได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน 100%
โดยในวันที่ 7-14 มิ.ย.64 จะได้รับการฉีดวัคซีน Astrazeneca ด้านศักยภาพการให้บริการฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานคร จากเดิมที่ตั้งเป้าการบริการฉีดวัคซีนทั้ง 25 แห่ง ให้สามารถบริการได้ 38,000-50,000 คน/วัน ขณะนี้สามารถเพิ่มศักยภาพรองรับประชาชนได้ 70,000 คน/วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่จะได้รับการจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุข
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การบริการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ที่อายุเกิน 60 ปีและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนกับ”หมอพร้อม” ซึ่งหยุดรับการลงทะเบียนไปแล้ว ทำให้มีประชาชนตกค้าง โครงการ”ไทยร่วมใจ” จะนำประชาชนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบโดยให้สามารถลงทะเบียนผ่านระบบ “ไทยร่วมใจ” ได้ พร้อมทั้งขอจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข หากได้รับการจัดสรรวัคซีนประชาชนกลุ่มนี้จะได้รับการฉีดวัคซีนแน่นอน
ผู้ประกันตน มาตรา33
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันที่ 7 มิ.ย.64 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ และศูนย์ฉีดวัคซีนผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง
โดยศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้อย่างน้อยวันละประมาณ 10,000 คน ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายได้ที่กำหนดไว้ จากที่ได้เริ่มดำเนินการในเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา ส่วนการเปิดบริการจริงเต็มรูปแบบในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 นี้
จะเปิดให้บริการประชาชนที่ลงทะเบียนนัดหมายล่วงหน้าก่อนแล้วเท่านั้น เพี่อความชัดเจนว่าประชาชนที่เดินทางมาที่สถานีกลางบางซื่อจะได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดที่นัดหมายอย่างแน่นอน และเป็นการลดความแออัดของสถานที่ฉีดวัคซีนอีกด้วย
สำหรับการฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั้น กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. กระทรวงการคลัง โดยธนาคารกรุงไทย และสถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม จัดการบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในสถานประกอบการ
รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่แรงงานในภาคธุรกิจ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว สร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนได้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ โดยจะเริ่มการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 นี้ ให้กับผู้ประกันตนที่ได้แจ้งความประสงค์ต้องการรับวัคซีนไว้กับฝ่ายบุคคลของสถานประกอบการต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และได้บันทึกลงระบบ e – service ของสำนักงานประกันสังคมไว้แล้ว ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดจุดฉีดไว้ทั้งสิ้น 45 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร และมีศักยภาพในการฉีดได้วันละ 50,000 คน
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า “สำหรับการฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับการนัดหมายไว้ก่อนแล้วนั้น สามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้กระจายวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ทุกจังหวัดทั้งในส่วนของแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ การจัดส่งวัคซีนจากส่วนกลางไปยังสถานที่ฉีดวัคซีนต่างๆ ทั่วประเทศนั้น มีการปรับเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยจากเดิมที่ส่งให้จังหวัดเป็นรายเดือน ได้ทำการปรับเปลี่ยนเป็นแบบรายสัปดาห์ตามสถานการณ์แทน”
วันนี้ (7 มิ.ย. 64) เมื่อเวลา 08.30 น. ณ สถานีกลางบางซื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางชื่อ ณ สถานีกลางบางซื่อ โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและสักขีพยานในโอกาสปลัดกระทรวงคมนาคมมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนภารกิจวาระการฉีดวัคซีนแห่งชาติ ให้แก่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวทักทายหน่วยงานส่วนภูมิภาค ที่ให้บริการฉีดวัคซีนพร้อมกันในวันนี้ โดยมีผู้แทนจาก 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา และภูเก็ต ผ่านระบบ Video Conference พร้อมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มาช่วยอำนวยความสะดวกในการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาลแก่ประชาชน ทั้งสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ฉีดวัคซีนทั่วกรุงเทพฯ
โดยขอให้ดำเนินการอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนการฉีดวัคซีนเพื่อให้ไม่มีปัญหาในระยะยาว เนื่องจากยอดผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนมีมากกว่าวัคซีนที่ได้รับการส่งมอบจึงต้องบริหารจัดการวัคซีนให้เหมาะสมตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่ารัฐบาลจะจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงแต่ละจังหวัด พร้อมฝากไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อย ขอให้ระมัดระวัง ป้องกันตนเองตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทักทายประชาชนที่มารับบริการฉีดวัคซีนฯ พร้อมขอให้ทุกคนแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลดความแออัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของสาธารณสุขต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีการฉีดวัคซีนครบถ้วน ยืนยันว่า รัฐบาลมีวัคซีนที่เพียงพอกับประชากรในประเทศและกำลังจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเฉพาะ อาทิ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีความจำเป็นพิเศษ หรือมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชน ทุกคนในประเทศไทยจะต้องได้รับการฉีดวัดซีนได้อย่างทั่วถึงแน่นอน
ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประเทศ ต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 50 ล้านคน หรือ 100 ล้านโดส โดยในเดือนมิถุนายนนี้จัดส่งวัคซีน 2 ยี่ห้อ คือ แอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนได้เพียงพอตามแผนที่วางแผนไว้และตามสัดส่วนของประชากรในประเทศอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ยืนยันว่าทุกจังหวัดจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัดตามจำนวนของผู้ติดเชื้อ ในวันนี้เราอยู่ในขั้นตอนการฉีดที่จะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ได้ ย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อบริหารจัดการวัคซีนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อประชาชนคนไทยทุกคน
จากนั้นเวลา 10.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ ปูพรมฉีดคนทำงานในระบบประกันสังคม 45 จุดในพื้นที่กทม. สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ
โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมตรวจเยี่ยมด้วย
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เสียสละ ตั้งใจทำงานอย่างหนักเพื่อให้ประชาชนปลอดภัย และขอบคุณประชาชนที่สมัครใจมาฉีดวัคซีนกันมากขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ขออย่าประมาท ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ยืนยัน นับจากวันที่ 7 มิถุนายน นี้ จะมีการฉีดวัคซีนปูพรมพร้อมกันทุกจังหวัด ทั่วประเทศ โดยจะปรับปริมาณวัคซีนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของแต่ละพื้นที่ และครอบคลุมบุคลากรทุกกลุ่ม รวมถึงบุคลากรครู ผู้ประกันตนมาตรา 33 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง
นายกรัฐมนตรียังยืนยันอีกด้วยว่า รัฐบาลจะทยอยส่งวัคซีนให้ทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง ณ วันนี้มีสถานที่ให้บริการมากกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการฉีดวัคซีนบางส่วนแล้ว จำนวนประมาณ 4 ล้านคน คาดว่า เดือนมิถุนายนนี้จะสามารถฉีดเพิ่มขึ้นอีกตามจำนวนวัคซีนที่มีเข้ามา อย่างไรก็ตามหากในพื้นที่ใดที่มีคลัสเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นรัฐบาลก็มีการเตรียมวัคซีนรองรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว
ขณะนี้มีทั้งวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ที่กำลังทยอยเข้ามาซึ่งเป็นไปตามแผนและห้วงเวลาที่กำหนด รวมทั้งมีการลงนามสัญญาสั่งจองวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่คาดว่าจะมาอีกประมาณ 25 ล้านโดส รวมทั้งวัคซีนซิโนแวคอีกจำนวน 8 ล้านโดส เพื่อให้ครบ 100 ล้านโดสตามที่กำหนดจากเดิม 61 ล้านโดส ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน ฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 4.2 ล้านโดส และในเดือนมิถุนายนนี้ จะทยอยฉีดวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าที่เข้าให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะมีการจัดหาวัคซีนสำรองรองรับตามสถานการณ์ความจำเป็นด้วย
สำหรับการลงทะเบียนสำหรับรับบริการฉีดวัคซีนนั้น สามารถผ่านหลายช่องทางทั้งระบบหมอพร้อม แอปพลิเคชันอื่นๆ รวมถึงผ่านระบบประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยรัฐบาลจะบริหารจัดการวัคซีนที่มีอยู่ในแต่ละเดือน รวมทั้งที่ทยอยเข้ามาให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างเหมาะสมรวมถึงประชากรแฝงที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ และจังหวัดที่มีกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น พื้นที่ท่องเที่ยว กลุ่มแรงงาน และกลุ่มต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือชายแดนด้านเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะแรงงานผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม โดยจะปรับปริมาณวัคซีนและการฉีดให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเหมาะสมกับจำนวนความต้องการของประชาชน ภายใต้การกำกับและให้คำแนะนำของคณะกรรมการวัคซีนจังหวัดและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า นายกรัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่ในการที่จะทำให้ทุกคนได้เข้าถึงวัคซีนที่มีอยู่ และจะเพิ่มเติมให้มากที่สุดทั้งปีนี้และปีหน้า เพียงทุกคนรวมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และรับฟังข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ มีภูมิต้านทานก่อนที่จะนำไปโพสหรือเผยแพร่ต่อ เชื่อมั่นหากทุกคนร่วมมือกันทั้งภาครัฐเอกชนและประชาชนจะทำให้ประเทศฟื้นตัวได้เร็วขึ้น รวมทั้งร่วมมือกันให้การแพร่ระบาด Covid-19 ลดลงให้ได้
พร้อมอวยพรให้ประชาชนทุกคน บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนมีความสุขและปลอดภัย ตลอดจนให้กิจการต่าง ๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งขอความร่วมมือกิจการร้านค้า และร้านอาหารต่าง ๆ ตลอดจนกิจการโรงแรม ให้ระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ให้ไม่ติดเชื้อ ซึ่งจะเป็นการช่วยรัฐบาลอีกทางหนึ่งในการร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นายกรัฐมนตรี ย้ำรัฐบาลพร้อมที่จะดูแลเพิ่มเติมให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้กำลังประชุมหารือกันเพื่อหาแนวทางในการดูแลประชาชนทุกกลุ่มให้มีรายได้และอาชีพ สามารถดำรงชีพอยู่ได้ให้มากที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :