รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า
ต้องระวัง !! พบติดโควิดไวรัสเดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดียมากถึง 235 ราย คิดเป็น 6% ใน 10 จังหวัด
พบมากที่สุดคือกรุงเทพ 206 รายตามด้วยอุดรธานี 17 ราย จากการตรวจหาลำดับกรดอะมิโนของไวรัสก่อโรคโควิด ซึ่งกลายพันธุ์เป็นประจำ เนื่องจากเป็นไวรัสสายพันธุ์เดี่ยว(RNA) ตัวอย่างที่ตรวจไป 3964 ตัวอย่างพบว่า 90% หรือ 3595 ตัวอย่างเป็นสายพันธุ์อัลฟ่าหรือสายพันธุ์อังกฤษ และพบสายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดียมากถึง 235 ราย คิดเป็น 6%
โดยการตรวจพบรายแรก เป็นหญิงไทยวัย 42 ปี เดินทางมาพร้อมลูกสามคนจากประเทศปากีสถาน แต่กักตัวไว้ได้ที่สถานกักตัวของรัฐ หลังจากนั้นมีการตรวจพบในแคมป์คนงานที่หลักสี่ เฉพาะตรงนี้ตรวจพบเป็นสายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดีย 206 ราย และเมื่อมีการสั่งปิดการทำงาน ก็มีคนงานบางส่วนเดินทางกลับบ้าน จึงนำเชื้อไปแพร่ที่จังหวัดอุดรธานี 17 ราย และยังพบที่จังหวัดนนทบุรี พิษณุโลก นครราชสีมา สระบุรี จังหวัดละ 2 ราย บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สมุทรสงครามและร้อยเอ็ด จังหวัดละ 1 ราย
ที่ต้องให้ความสนใจหรือระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเมื่ออยู่ร่วมกับสายพันธุ์อัลฟ่า จะมีการแพร่ได้เร็วกว่าถึง 40% จึงขยายตัวและครอบครองพื้นที่การติดเชื้อส่วนใหญ่ไว้ได้ ดังที่ปรากฏในประเทศอังกฤษ
เดิมอังกฤษเอง ก็เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมจากจีน ต่อมาเมื่อมีกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อัลฟ่าหรืออังกฤษ ซึ่งแพร่ได้เร็วกว่า 70% ก็ครอบครองการติดเชื้อของอังกฤษเป็นส่วนใหญ่
เมื่อมีสายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดียเข้ามา ก็ครอบครองแทนสายพันธุ์อัลฟ่าหรืออังกฤษเดิม
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สายพันธุ์เดลต้าดูท่าทางจะไม่ค่อยกลัววัคซีน ทั้งของ Pfizer และ AstraZeneca จึงทำให้อังกฤษ ซึ่งฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งไปแล้วถึง 60% นั้น ตอนที่เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า ก็ทำให้จำนวนติดเชื้อและจำนวนเสียชีวิตลดลง แต่เมื่อผู้ติดเชื้อเริ่มพบเป็นสายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดีย ก็เริ่มกลับมามีผู้ติดเชื้อมากขึ้นอีก
ประเทศไทยเราก็จะต้องระมัดระวัง จะต้องคุมให้มีเฉพาะสายพันธุ์อัลฟ่าให้ได้ ถ้ามีสายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดียเพิ่มขึ้นมา จะเจอปัญหาวัคซีนเอาไม่อยู่ โดยจะมีการระบาดติดเชื้อเพิ่มขึ้นเหมือนกับประเทศอังกฤษได้
ทั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียนั้น ล่าสุดนพ.ศุภกิจ ศิริลักษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย
โดยนพ.ศุภกิจ ระบุว่า จากการถอดรหัสพันธุกรรมที่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยรวม 3,964 ตัวอย่าง พบว่า ประมาณ 90% หรือ 3,595 ราย เป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha) ถือว่า ขณะนี้สายพันธุ์อังกฤษครองเมือง นอกจากนี้ยังพบสายพันธุ์อินเดีย หรือสายพันธุ์เดลต้า(Delta) 235 ราย พบว่า 206 รายอยู่ในกทม. ในแคมป์คนงานหลักสี่ นนทบุรี 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย ที่มีความเชื่อมโยงกับแคมป์คนงานหลักสี่นอกจากนี้ยังมีบุรีรัมย์ 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย สมุทรสงคราม 1 ราย ที่น่าห่วง คือ จ.อุดรธานี 17 ราย จากการรวมกลุ่มบายศรีสู่ขวัญ กำลังสอบสวนความเชื่อมโยงว่า มีความเกี่ยวข้องกับแคมป์คนงานก่อสร้างที่หลักสี่หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีที่ร้อยเอ็ด 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย สระบุรี 2 ราย
ขณะที่ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการถอดรหัสพันธุกรรมกว่า 30,000 รหัสพันธุกรรมซึ่งเป็นความร่วมมือกับทั่วโลกในการถอดรหัสและได้มีการแชร์ข้อมูลผ่านระบบกลางซึ่งประโยชน์จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิดจะทำให้ทราบแนวทางการป้องกันและควบคุมโรค เหมือนกรณีของที่ตากใบ จ.นราธิวาส ที่ขณะนั้นเจอติดเชื้อ 100 คน และได้มีการส่งตัวอย่างเชื้อมาที่ศูนย์จีโนม จึงได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมจนพบว่า สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทำให้มีการจำกัดขอบเขตของการระบาด และขณะนี้ก็ยังพบเพียงในพื้นที่อยู่ ขณะที่สายพันธุ์อังกฤษพบไม่มากประมาณ 1%“นอกจากนี้ ก็ยังมีการติดตามสายพันธุ์ B.1.524 ซึ่งเป็นสายพันธุ์พื้นบ้านของประเทศเพื่อนบ้าน(มาเลเซีย) แต่สายพันธุ์นี้ไม่น่ากังวล เนื่องจากไม่พบความรุนแรง แต่ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามคือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้หรือเบต้า (Beta) ส่วนในปัจจุบันประเทศไทยไม่พบการกลายพันธุ์ที่พบได้เฉพาะในประเทศไทย
ด้าน ศ.นพ.ยง ระบุว่า จากข้อมูลที่มีรายงานทั่วโลก การกลายพันธุ์เป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ไวรัสโควิด-19 ก็มีการกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดของไวรัส ไวรัสที่กลายพันธุ์และแพร่กระจายได้ง่ายก็จะแพร่ขยาย และกลบสายพันธุ์เดิมที่มีการแพร่กระจายได้น้อยกว่า แต่เดิมสายพันธุ์อู่ฮั่น เรียกง่าย ๆ เป็นสายพันธุ์ S และ L สายพันธุ์ L แพร่ได้มากกว่า จึงกระจายมากในยุโรปและการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G และ Vต่อมาสายพันธุ์ G แพร่ได้ง่ายจึงกระจายทั่วโลกและแทนที่ สายพันธุ์อู่ฮั่น หลังจากนั้นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แพร่กระจายได้ง่ายจึงกลบสายพันธุ์ G เดิม ตอนนี้มีสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ที่แพร่กระจายง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟาเข้ามา ทำให้เกรงกันว่าสายพันธุ์เดลตาจะทำให้ระบาดเพิ่มขึ้น และมาแทนสายพันธุ์อัลฟาในอนาคต ส่วนสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) เป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่หลบหลีกภูมิต้านทานได้ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง จึงต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ สายพันธุ์ดังกล่าวคือ เบตา และ แกมมา ทั้งสองสายพันธุ์แพร่กระจายได้น้อยกว่าสายพันธุ์แอลฟ่า และเดลตา
อย่างไรก็ดี การศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ ในคนไทยที่กลับจากต่างประเทศตรวจพบเชื้อSAR-CoV-2 ได้เกือบทุกสายพันธุ์ ทำให้สามารถพัฒนาวิธีตรวจเฝ้าระวังการกลายพันนธุ์ที่แม่นยำและทำได้รวดเร็ว ในขณะนี้ยังติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ใน State Quarantine และ Alternative state quarantine อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยที่เข้ามาทางสนามบิน จะมีโอกาสน้อยมากที่จะแพร่กระจายโรค ที่ผ่านมาการระบาดเกิดจากการลักลอบผ่านชายแดนเข้ามา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :