รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
วัคซีน Sinovac กับวัคซีน Sinopharm ใกล้เคียงกันมาก ในหลายประเด็น ฉีดได้เลยไม่ต้องรอของ Sinopharm
ตามที่ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ออกมาแจ้งให้ทราบว่า ทางสภาอุตสากรรมจองวัคซีน Sinopharm ที่ประสานนำเข้ามาโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยจะต้องชำระค่าวัคซีน ซึ่งเป็นต้นทุนเข็มละ 888 บาท โดยที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่ได้คิดกำไรแต่อย่างใดนั้น ในเบื้องต้นจองไว้ 3 แสนเข็ม จาก 1 ล้านเข็มแล้ว ทำให้หลายท่านที่ไม่ได้ติดตามข้อมูลทางวิชาการอย่างละเอียดครบถ้วน ของวัคซีนชนิดต่างๆ โดยเฉพาะวัคซีน Sinovac กับ Sinopharm ของจีน
จึงเกิดความสงสัยว่า วัคซีน Sinopharm น่าจะดีกว่า เพราะต้องเสียเงินถึงเกือบเข็มละพันบาท ในขณะที่ Sinovac ไม่ต้องเสียเงินเลย (ความจริงรัฐต้องเสียเงินค่าวัคซีนเช่นเดียวกับที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต้องเสียเงินค่าวัคซีน)
ลองมาดูข้อเท็จจริงของวัคซีนสองชนิดนี้กันดูนะครับ
1.เป็นวัคซีนที่ผลิตมาจากประเทศจีนเหมือนกัน โดยฐานการผลิตส่วนหนึ่งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น
2.เป็นบริษัทสัญชาติจีนเช่นเดียวกัน ใช้เทคโนโลยี โรงงาน และนักวิทยาศาสตร์ของจีนเป็นส่วนใหญ่เหมือนกัน โดยบริษัท Sinovac เป็นบริษัทเอกชน และ Sinopharm เป็นรัฐวิสาหกิจ
3.ประสิทธิผลของทั้งสองวัคซีนนั้นใกล้เคียงกันมาก โดยของ Sinopharm อยู่ระหว่าง 72-78% ส่วนของ Sinovac อยู่ระหว่าง 50- 91% (เฉลี่ย 71%)
4.ผลข้างเคียงทั้งเล็กน้อยและรุนแรง มีข้อมูลว่าใกล้เคียงกัน
5.ได้รับการจดทะเบียนให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศจีนเรียบร้อยแล้วเหมือนกัน
6.องค์การอนามัยโลกได้อนุมัติให้เป็นวัคซีนที่ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในห้วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน สามารถไปฉีดในโครงการ COVAX อีกนับ 100 ประเทศได้ เช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งการฉีดสองเข็ม ก็ห่างกัน 21 วันเหมือนกัน ทำให้วัคซีนทั้งของ Sinovac และ Sinopharm ต้องถือว่ามีความใกล้เคียงกันมาก ในหลากหลายประเด็นตามที่กล่าวไปแล้ว
ส่วนกรณีของการนำเข้าของ Sinopharm โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นการนำเข้ามาเสริมในจังหวะที่วัคซีนอาจจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพของวัคซีน Sinopharm จะเหนือกว่า Sinovac แต่อย่างใด
ดังนั้นผู้ที่ได้รับคิวหรือโควต้าให้ฉีด Sinovac จึงไม่ต้องลังเล ที่จะรอ Sinopharm เช่นเดียวกันผู้ที่ได้คิวฉีดวัคซีนของ AstraZeneca ก็ไม่ต้องรอคิวของ Sinopharm เช่นเดียวกัน รวมทั้งไม่ต้องรอของ Pfizer และ Moderna ด้วย เพราะตัวเลขสุดท้ายจากการฉีดนับร้อยล้านเข็มทั่วโลก พบว่าประสิทธิผลของวัคซีนทุกบริษัทใกล้เคียงกันมาก รวมทั้งผลข้างเคียงด้วย
มีวัคซีนอะไรก็ตาม ที่ได้คิวฉีดเร็วที่สุด ก็ฉีดเลยครับ
สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รับรวมตัวเชขจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.-12 มิ.ย. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 6,081,242 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 4,456,786 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 1,624,456 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :