สธ.เตรียมดึงโควต้าวัคซีนโควิด กทม.ฉีดผู้ลงทะเบียนผ่าน"หมอพร้อม"

14 มิ.ย. 2564 | 07:52 น.

"อนุทิน"เตรียมดึงโควต้าวัคซีน กทม.ฉีดผู้ลงทะเบียนผ่าน"หมอพร้อม" ยันส่งมอบวัคซีนตามแผน ย้ำไม่มีการปรับจำนวนวัคซีน "อัศวิน"ยันเลื่อนฉีดเหตุไม่ได้รับวัคซีนก่อน 14 มิ.ย.

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ประเด็นปัญหาการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า สธ.ได้จัดส่งวัคซีนโควิด-19 ไปทั่วประเทศ ตามข้อสั่งการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 

สำหรับการกระจายวัคซีนในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นไปตามแผนเดิม หากมีการส่งวัคซีนไปน้อยกว่าที่ตกลงกัน ก็ต้องมีคนรับผิดชอบ และจะไม่มีการปรับจำนวนวัคซีนของ กทม. ในเดือนมิถุนายน เพิ่มเติม เพราะจะต้องกระจายไปตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับมาจากบริษัทวัคซีนฯ 

การส่งวัคซีนของกรมควบคุมโรค หากได้รับมากก็ส่งไปให้มาก เช่นหากให้ทำตามแผน 1 ล้านโดส ที่จะต้องส่งให้ กทม.ที่เหลือจากการแบ่งไปฉีดให้กับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องส่งสัปดาห์ละ 250,000 โดส แต่กรมควบคุมโรคมีการส่งวัคซีนไป 500,000 โดส และในปลายสัปดาห์นี้ก็จะส่งไปเพิ่มเติมอีก

ขณะนี้ประเทศไทยมีแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เดือนละ 6-10 ล้านโดส ซึ่งไม่ได้นับแค่เพียงวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าอย่างเดียว เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนซิโนแวคด้วย และนอกจากนั้น ก็จะมีวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม การสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ ในปี 2564 จำนวน 61 ล้านโดส 

ซึ่งขณะนี้ได้เจรจากับบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ว่าหลังเดือนธันวาคม 64 ไปแล้วจะมีวัคซีนสูตรอื่นที่รองรับเชื้อกลายพันธุ์หรือว่าสามารถฉีดให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีหรือไม่ เพื่อเตรียมงบประมาณสั่งซื้อเพิ่มเติมสำหรับฉีดให้ประชาชนในปี 2565 ต่อไป

“หากได้รับวัคซีนไปก็ต้องบริหารการฉีดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ให้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ต้องมาประกาศปิด เพราะประชาชนก็คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากวัคซีนขาด แต่จริงๆ ไม่ได้ขาด ตอนนี้สธ.ทำงานได้เท่านี้ จะไปกำหนดนโยบายไม่ได้ เพราะ ศบค. เป็นคนกำหนด อำนาจการบริหารจัดการอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายอยู่ที่ ศบค. 

เว้นแต่ว่าหากมีเหตุฉุกเฉินที่กระทบต่อประชาชน สธ.ก็คงใช้ดุลยพินิจเข้าไปแก้ไข “ยกตัวอย่าง การมอบหมายให้อธิบดีกรมควบคุมโรคไปตรวจชื่อรายชื่อหมอพร้อมใน 2 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังที่ลงทะเบียนในกรุงเทพฯ ไว้ว่ามีกี่คน แล้วโดนเทในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านของระบบกี่คน 

ทาง สธ.ก็จะรับมาฉีดเอง เช่น ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ สถาบันบำราศนราดูร รพ.ราชวิถี รพ.ศรีธัญญา ทุกที่ที่เราจะฉีดวัคซีนได้ 

โดยหักจำนวนในโควต้าของ กทม. แต่ถ้าวัคซีนมีมากเพียงพอก็ไม่หัก อย่างไรก็ตาม หากกทม.สามารถฉีดวัคซีนให้กลุ่มนี้ได้ ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าไม่ได้ ทาง สธ.เองก็พร้อมรับมาฉีดให้เอง เดิมเดือนมิถุนายน ต้องฉีดให้คนจองในหมอพร้อม เมื่อตอนที่ชะลอหมอพร้อม เราคิดว่าจะมีการอุ้มคนในหมอพร้อมไปด้วย ไม่ใช่เทเขากลางทาง เพราะอยู่ในโควต้าของ กทม.ด้วย จริงๆ เขาควรเอากลุ่มหมอพร้อมไปใส่ในไทยร่วมใจ แต่อาจคนละหน่วย”

ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กรณีการชะลอการฉีดวัคซีนในหลายรพ.ในกรุงเทพฯนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากไม่ได้รับวัคซีนก่อน 14 มิ.ย. ทางกทม.จึงแจ้งผู้ที่ลงทะเบียน ตั้งแต่ 15-20 มิ.ย. ให้ชะลอการฉีด และเมื่อได้รับวัคซีนเมื่อไหร่จะดำเนินการฉีดให้เร็วที่สุด รับมาวันไหนวันรุ่งขึ้นฉีดให้ประชาชนทันที โดยผู้ที่ลงทะเบียนในวันที่ 15-20 มิ.ย. จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับฉีดไม่ต้องวนไปต่อท้ายใหม่ ซึ่งเป็นผู้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม 1.4 แสนคน และผ่านไทยรวมใจ 1.7 แสนคน รวมกันประมาณ 3.2 แสนคน

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะความขัดแย้ง กระทรวงสาธารณสุข และหลายหน่วยงาน ช่วยแบ่งเบางานกทม. อย่างมาก ในการฉีดให้ประชาชน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: