"หมอศิริราช" เดือดอีก! ถามหาหลักธรรมมาภิบาลจาก "นายกฯ" จวกออกนโยบายไม่สนใจภาคการแพทย์จริง

22 มิ.ย. 2564 | 01:45 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2564 | 01:47 น.

"หมอนิธิพัฒน์" เดือดอีก ออกโรงถามหาหลักธรรมมาภิบาลในการบริหาร พร้อมจวกออกนโยบายไม่สนใจฟังข้อมูลจากภาคการแพทย์จริงที่ทำงานอย่างหนักหน่วง

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า 

บ้านนี้เมืองนี้ มีตัวอย่างธรรมาภิบาล (good governance) ให้ลูกหลานดูเป็นตัวอย่างกันบ้างไหม ไล่มาจากระดับหัวเรือใหญ่ที่ประกาศกระชากใจภาคการแพทย์ด้วยการเตรียมการเปิดประเทศ ยังสงสัยว่าอาจจะเป็น 120 วันอันตรายได้ ถ้าไม่มีแผนเคลียร์ปัญหาโควิด-19 ที่ยังคั่งค้าง (backlog) ขณะนี้ให้ชัดเจน ระดับรองมาหน่อยเป็นแผนกระจายวัคซีนเดือนหน้า มีจังหวัดชายแดนบางจังหวัดที่ไม่มีช่องทางผ่านแดนเป็นทางการ แต่อยู่ในข่ายได้รับวัคซีนในระดับสอง (อาจด้วยเหตุผลเมืองกีฬา ซึ่งคงมีอีกหลายเมืองไม่น้อยหน้ากัน) รองมาอีกนิดก็ขอแบ่งวัคซีนดื้อๆ จากลูกน้องในหัวเมืองเพื่อเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ แต่ไปไม่รอดต้องรีบกลับลำ และหน่วยงานท้ายสุดที่กระดี๊กระด๊าชกลมรอมาหลายรอบ ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในเมืองหลวงไข่แดงประเทศ ที่ครองแชมป์ต่อเนื่องยาวนานในระลอกสามของผู้ติดเชื้อสูงสุด รวมไปถึงยอดผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ และยอดผู้เสียชีวิต ซึ่งถึงเวลาที่โพสต์นี้ยังไม่มีแววจะลดลงได้ โดยไม่มีมาตรการประกอบการผ่อนคลายที่ชัดเจนว่าจะควบคุมไม่ให้มีการละเมิดอย่างไร 
    ช่วงสามสี่วันนี้ใครอยู่ในแวดวงการบริหารจัดการเตียงระดับ 3 ในเขตกทม. สำหรับรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรงและอาการวิกฤตระหว่างโรงพยาบาล ต้องกุมขมับเพราะสถานการณ์เตียงเริ่มคับขัน จนกลับไปเหมือนเมื่อปลายเดือนที่แล้วที่หลายคนอยากกลั้นใจตาย แถมผู้ป่วยหนักระลอกใหม่นี้มีสัดส่วนที่สูงซึ่งเป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง และมีหลายรายที่สืบสาวหาต้นตอการรับเชื้อไม่ได้ชัดเจน ซึ่งหมายถึงเชื้อได้ระบาดซึมลึกเข้าไปในชุมชนทั่วไปแล้ว ไม่ได้อยู่แต่ในกลุ่มก้อนทั้งใหม่และเก่าที่โผล่ขึ้นมามากมายเป็นดอกเห็ดจนจดจำกันไม่หวาดไม่ไหว

ภาพส่วนหนึ่งจากเฟซบุ๊กหมอนิธิพัฒน์
    ก่อนจะคิดก่อนจะทำอะไร เคยถามและรับฟังอย่างใส่ใจ จากภาคการแพทย์ส่วนที่เขาทำงานกันอยู่อย่างหนักหน่วงบ้างไหม จะโทษส่วนน้อยของภาคการแพทย์ที่ชงข้อมูลซึ่งขัดความรู้สึกส่วนใหญ่ขึ้นมาให้ก็คงใช่ที่ เพราะคำพูดที่ออกสู่สาธารณะแล้ว ถือเป็นสัญญาประชาคมแบบหนึ่งที่ผู้พูดต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว แต่ดินแดนสารขัณฑ์แห่งนี้มีตัวอย่างให้เห็นกันมามากมายแล้วในอดีตว่า คำพูดไม่เคยเป็นนายคน (ที่ไม่มีธรรมาภิบาล) เหมือนดังคนโบราณสอนสั่ง
    #มือไม่พายอย่าใช้อะไรราน้ำ
    ทั้งนี้ "หมอนิธิพัฒน์" ถือว่าเป็นบุคลลากรทางแพทย์ท่านหนึ่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐ และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 (Covid-19) ที่มักจะไม่ตรงกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา โดยก่อนหน้านี้ได้เคยวิพากวิพากวิจารณ์เกี่ยวกับกรณีการปกปิดข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตเกี่ยวกับโควิด ซึ่งมีข้อความสำคัญระบุว่า "จงใจปกปิดข้อมูลทำให้ภาพรวมการเสียชีวิตจากโควิดต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้ภาคความมั่นคงและภาคประชาชนไม่เห็นความสำคัญของปัญหาที่แท้จริง และไม่กวดขันเข้มงวดเพื่อช่วยลดการสูญเสียของการระบาดในวงกว้าง"

    จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้ "หมอนิธิพัฒน์" ได้รับโทรศัพท์สายตรงจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิตัล ต้องการตรวจสอบประเด็นเรื่อง หมอศิริราช ระบุแพทย์ปิดบังยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทำให้ข้อมูลผู้เสียชีวิตโดยรวมต่ำกว่าความเป็นจริง แต่สุดท้ายต้นสายที่โทรมากลับเป็นฝ่ายที่ต้องพูดไม่ออก ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ที่ หมอนิธิพัฒน์ อธิบายให้ฟังแบบผู้เชี่ยวชาญ

    อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น "หมอนิธิพัฒน์"  ก็ได้ออกมาวิจารณ์อีกเกี่ยวกับข้อมูลของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการรายงานเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดรุนแรง/วิกฤตในกทม.

    โดยเวลานั้นมีการายงานว่า เตียงรองรับผู้ป่วยโควิดรุนแรง/วิกฤตในกทม.มีราว 1,000 เตียงเล็กน้อย ยังเหลือว่างอีกกว่า 20% ซึ่งขัดกับความเป็นจริง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :