รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
"วิถีชีวิตที่พึงปฏิบัติ" ตลอดครึ่งปีหลังนี้...
การกินดื่ม:
ซื้อกลับไปยาวๆ ไม่ว่าจะตอนไปทำงานข้างนอก หรืออยู่บ้าน
การเดินทาง:
เลี่ยงขนส่งสาธารณะ ใช้เท่าที่จำเป็น วางแผนตารางเวลาให้ดี เลือกช่วงที่ไม่แออัด ล้างมือทุกครั้ง ใส่หน้ากากเสมอ
การซื้อและรับสินค้า:
พกถุงผ้าของตัวเอง พ่นสเปรย์แอลกอฮอล์
การซื้อบริการต่างๆ:
ออนไลน์เป็นหลัก รวมถึงการรักษาพยาบาลหากทำได้ ถ้าจำเป็นต้องรับบริการบางอย่าง เช่น ตัดผมทำผม ตัดเองได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็นัดหมายล่วงหน้า ใส่หน้ากากและติดเทปรอบๆ ขอบหน้ากากให้ยึดกับใบหน้าเวลาเอาห่วงคล้องหูลงมาเพื่อตัดผมทำผม แจ้งให้ช่างใส่หน้ากากและเฟซชิลล์ด้วย ใช้เวลาสั้นๆ หากคนแออัด ให้เลี่ยงการใช้บริการ
การจัดการที่อยู่อาศัย:
ทำความสะอาดเสมอ จัดที่ทางไว้สำหรับแยกคนที่ไม่สบายออกจากคนอื่นในบ้าน
การนอนหลับ/พักผ่อนหย่อนใจ:
นอนที่บ้านจะดีที่สุด นอกบ้านยากนักที่จะการันตีความปลอดภัย ที่พักแรมข้างนอกเป็นสถานที่และสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นจึงมีโอกาสปนเปื้อนได้แม้จะมีมาตรการทำความสะอาดตามที่กำหนด และคงต้องทำใจไว้ระดับหนึ่งว่า ตราบใดที่สถานการณ์เป็นเช่นนี้ ย่อมไม่เหมาะแก่การตะลอนท่องเที่ยว รวมถึงการกินนอกบ้าน ดูหนัง หรือสถานบันเทิงอื่นๆ
การสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด:
ระลึกเสมอว่าไม่ว่าเพื่อนจะสนิทเพียงใด รวมญาติและคนในครอบครัว ล้วนมีโอกาสติดเชื้อได้ แม้จะรับวัคซีนมาแล้ว ด้วยความชุกของโรคที่มากและกระจายไปทั่วเช่นนี้ จงรักษาระยะห่างกันไว้ และควรถามไถ่ตรวจสอบคนในบ้านเสมอว่าไปไหนมาไหนที่เสี่ยงบ้างไหม มีอาการไม่สบายบ้างไหม ไข้ไอเจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ ไม่ว่าจะมีอาการใด ขอให้รีบไปตรวจรักษา อย่าปล่อยทิ้งไว้ ไม่งั้นจะติดกันยกที่ทำงาน และยกครอบครัว
การทำงาน:
ทำที่บ้าน ทำออนไลน์ หากทำได้เช่นนี้จะดีกว่า แบ่งทีมทำงานไว้หลายทีม สลับกันทำงานไปเผื่อใครติดเชื้อจะได้ยังมีกำลังพล ยิ่งหากใครทำงานค้าขายหรือบริการ พบปะผู้คนมาก ควรจัดให้มีระบบการตรวจน้ำลายแบบรวมกลุ่ม (pooled saliva RT-PCR) เป็นระยะ ทุก 2-4 สัปดาห์ โดยปรึกษากับทางโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อทำให้เป็นกิจวัตร หากตรวจพบจากน้ำลาย ก็ค่อยส่งทุกคนในกลุ่มนั้นไปตรวจแยงจมูกรายคน
การเรียนรู้:
คงต้องเรียนรู้ว่าการระบาดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันรุนแรง ยากที่จะจัดการ ไม่ควรหลงเชื่อว่าฉีดวัคซีนแล้วจะอิสระเสรีได้ ควรทราบไว้ว่ายังมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ แม้จะลดโอกาสป่วย ป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต แต่ก็ไม่ได้การันตี 100% นอกจากนี้โรคระบาดนี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงหลักคือ ใกล้กัน เจอกันบ่อย และอยู่ด้วยกันนาน จะอยู่รอดปลอดภัยได้ ต้องป้องกันสามเรื่องนี้ให้ได้
การใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างๆ กัน คือเกราะป้องกันตนเองและครอบครัว...
ด้วยรักและห่วงใย
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 22 มิถุนายน 264 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 4,059 ราย
สะสมระลอกที่สาม 196,502 ราย
สะสมทั้งหมด 225,365 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 2,047 ราย
สะสม 160,410 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 35 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,599 ราย
สะสมทั้งหมด 1,693 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :