โควิดสายพันธุ์อินเดียจะครองโลก "หมอเฉลิมชัย" แนะเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 2-พัฒนาวัคซีนรุ่น 2

22 มิ.ย. 2564 | 02:55 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2564 | 04:27 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลโควิดสายพันธุ์อินเดียจะกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักของโลก แนะเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 2 หรือพัฒนาวัคซีนรุ่น 2

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
    ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า(อินเดียเดิม) จะกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักของโลกในอนาคตอันใกล้ และอาจต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มสอง หรือเร่งพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง
    นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิดโดยพบผู้ป่วยรายแรก ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562  นับถึงปัจจุบันเป็นเวลาหนึ่งปีเศษ พบว่าไวรัสโคโรนาลำดับที่เจ็ด ซึ่งก่อโรคโควิด เป็นไวรัสสายพันธุ์เดี่ยว(RNA) จึงมีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติโดยรวดเร็วและหลากหลาย นับถึงปัจจุบัน มีไวรัสกลายพันธุ์ไปแล้วหลายสิบชนิด (คาดว่าน่าจะเกิน 100 ชนิด) แต่ที่มีการกล่าวถึงเป็นที่รู้จักกัน ก็จะต้องเป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างต่อไปนี้คือ
    1.มีความสามารถในการแพร่เชื้อระบาดกว้างขวาง และรวดเร็ว
    2.มีความรุนแรงในการก่อให้เกิดการเจ็บป่วย
    3.มีความสามารถดื้อต่อวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ
    เมื่อนำหลักทั้งสามประการดังกล่าว มาประกอบการพิจารณาไวรัสแต่ละสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ขึ้นมา ก็จะจัดได้เป็น ไวรัสกลายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง (VOC) และไวรัสกลายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (VOI)
    ในขณะนี้ไวรัสกลายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่
    1.อัลฟ่า (Alpha) ของอังกฤษ
    2.เบต้า (Beta) ของแอฟริกาใต้
    3.แกมม่า (Gamma) ของบราซิล
    4.เดลต้า (Delta) ของอินเดีย
    โดยทางการแพทย์ เราจะใช้ไวรัสสายพันธุ์หลักเดิมของอู่ฮั่นเป็นหลักในการพิจารณาเปรียบเทียบ และอาจใช้ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อัลฟ่าอังกฤษเปรียบเทียบประกอบด้วย เช่น เราบอกว่า ไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่ามีความสามารถในการแพร่ระบาดมากขึ้นถึง 70%  อันนี้เปรียบเทียบกับสายพันธุ์อู่ฮั่น 
    พอมีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ก็มีคนบอกว่า มีความสามารถในการแพร่ระบาดมากขึ้น 60% อันนี้เปรียบเทียบกับสายพันธุ์อัลฟ่า คือ แพร่เชื้อเก่งกว่าอัลฟ่าอีก 60% ถ้าเทียบกับสายพันธุ์หลักอู่ฮั่น สายพันธุ์เดลต้า ก็มีความสามารถในการแพร่เชื้อมากกว่า 100% ของสายพันธุ์อู่ฮั่น
    ถ้าไวรัสสายพันธุ์ใดก็ตาม ที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิมมาก สุดท้ายในประเทศนั้น จะพบแต่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และไวรัสสายพันธุ์หลักเดิมก็จะหายไป ตัวอย่างเช่น

โควิดสายพันธุ์อินเดียจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลก
ที่ประเทศอังกฤษ เริ่มต้นเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักเดิมเกือบทั้งหมด ต่อมาเมื่อมีไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่าเกิดขึ้น ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ก็ทำให้ไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่าเป็นสายพันธุ์หลักของอังกฤษ โดยที่ไวรัสสายพันธุ์เดิมหายตัวไป
และในปัจจุบัน มีไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเกิดขึ้นมา และกำลังเป็นสายพันธุ์หลักแทนไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า เป็นต้น
    ของไทย เดิมก็เป็นไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น ขณะนี้เกือบทั้งประเทศ ก็เป็นไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่าทั้งหมด ถ้าเรามีสายพันธุ์เดลต้า เข้ามาระบาดแม้เพียงเล็กน้อย ในเวลาไม่นานนัก ทั้งประเทศก็จะเป็นสายพันธุ์เดลต้า เพราะแพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าเดิม
    รายละเอียดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า
    ธันวาคม 2563 เริ่มพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย
    เมษายน 2564 เพียงสี่เดือน ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าก็เป็นสายพันธุ์หลักของอินเดีย
    มิถุนายน 2564 ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ได้แพร่ไปแล้วกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
    ส่วนเรื่องการดื้อต่อวัคซีน พบว่า
    ไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า แม้จะแพร่เชื้อได้เร็ว แต่ไม่ค่อยดื้อต่อวัคซีน
    ไวรัสสายพันธุ์เบต้า ดื้อต่อวัคซีนค่อนข้างมาก แต่โชคดีที่แพร่เชื้อไม่ค่อยเก่ง
    ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า มีการแพร่เชื้อที่เร็วมาก เร็วยิ่งกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า
    จึงคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักและระบาดทั่วโลกในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
    ส่วนผลการดื้อต่อวัคซีน ก็ดื้อมากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า แต่จะต้องศึกษาต่อไปว่า ดื้อมากขนาดไหน
    สรุป
    1.ไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า แพร่เชื้อกว้างขวางรวดเร็ว แต่ไม่ค่อยดื้อต่อวัคซีน จึงทำให้เกิดการระบาดในระลอกที่แล้วมาก แต่จำนวนผู้เสียชีวิตไม่มากนัก เช่น การระบาดระลอกที่สามของประเทศไทย
    2.ไวรัสสายพันธุ์เบต้า ดื้อต่อวัคซีนค่อนข้างมาก แต่แพร่เชื้อไม่ค่อยรวดเร็วกว้างขวางนัก จึงไม่ได้เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกในตอนนี้
    3.ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า มีความสามารถในการแพร่เชื้อรวดเร็วกว้างขวางมาก คาดว่าจะครอบคลุมสายพันธุ์อัลฟ่าทั้งหมด ในเวลาอีกไม่กี่เดือน แล้วจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลก
    จึงต้องเร่งศึกษาเรื่องการดื้อต่อวัคซีนของสายพันธุ์เดลต้าว่า มีมากน้อยเพียงใด ถ้าดื้อไม่มากนัก ก็จะต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ครบสองเข็ม เพื่อต่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้า แต่ถ้าดื้อมาก ก็จำเป็นต้องเร่งพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง เพื่อรองรับไวรัสสายพันธุ์เดลต้าต่อไป
     ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 22 มิถุนายน 264 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
        มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 4,059 ราย 
      สะสมระลอกที่สาม 196,502 ราย
        สะสมทั้งหมด 225,365 ราย
        หายป่วยกลับบ้านได้ 2,047 ราย
        สะสม 160,410 ราย
        เสียชีวิตเพิ่ม 35 ราย
        สะสมระลอกที่สาม 1,599 ราย
        สะสมทั้งหมด 1,693 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :