วัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" (AstraZeneca)ถือว่าเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทยที่จะฉีดให้กับประชาชน โดยมีจำนวนมากที่สุดจำนวน 61 ล้านโด๊สจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขตามโควต้าทั้งหมด 105.5 ล้านโด๊สที่มีการสั่งซื้อ ที่เหลือจะแบ่งเป็น ซิโนแวค (Sinovac) 19.5 ล้านโดส ,ไฟเซอร์ (Pfizer) 20 ล้านโดส และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) 5 ล้านโดส
ส่วนที่จัดจัดหาเพิ่มอีก 50 ล้านโดส จะเป็นยี่ห้อซิโนแวค 28 ล้านโดส และวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ อีก 22 ล้านโดส
สำหรับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือการขาดแคลนวัคซีน โดยเฉพาะแอสตร้าเซนเนก้า จนถึงขนาดทำให้กระทรวงสาธารณสุข โดยปลัดกระทรวงอย่างนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ต้องกำหนดนโยบายใหม่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ให้มีการเลื่อนฉีดวัคซีนดังกล่าว หรือเว้นระยะห่างของเข็มที่ 2 จากเข็มเข็มแรกออกไปเป็น 16 สัปดาห์ จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 10 สัปดาห์ตามข้อกำหนดของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่ระบุว่า ให้ฉีดวัคซีน AstraZeneca 2 เข็มห่างกัน 10-12 สัปดาห์ โดยที่เอกสารกำกับยาของวัคซีนดังกล่าวระบุขนาดการใช้ยาว่า การฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 ควรให้หลังจากการฉีดเข็มแรก 4 ถึง 12 สัปดาห์
ประเด็นคำถามที่ตามมานอกจาก "วัคซีนจำนวน 117,000 โดสล่องหนหายไปไหน" ก็คือ "การเว้นระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 กับเข็ม 2 ยาวนานขึ้นถึง 16 สัปดาห์มีผลต่อประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 (Covid-19) หรือไม่" ซึ่งถือว่าเป็นข้อกังวลของผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างมาก เนื่องจากเป้าประสงค์ของผู้ฉีดวัคซีนก็คือความต้องการภูมิคุ้มกันโรค
ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” จะพาไปย้อนเรื่องราวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับบทวิเคราะห์ความเป็นไปได้ถึงการเว้นระยะห่างของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้ยาวนานขึ้นเป็น 16 สัปดาห์ สามารถทำได้หรือไม่ และส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนหรือไม่
-รพ.ประกาศเลื่อนฉีดอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2
พลอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล และฉีดเข็มที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่สถาบันบำราศนราดูร ห่างกันประมาณ 10 สัปดาห์ตรงตามที่กำหนด
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจก็คือหลังจากนั้น โรงพยาบาลหลายแห่งต่างก็ทยอยประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ออกไป เช่น
โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กรุงเทพฯ ประกาศให้ผู้รับบริการที่มีนัดรับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 2564 (รับการฉีดเข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึง 5 เมษายน 2564) เลื่อนวันนัดรับวัคซีนออกไปก่อน เมื่อได้รับวัคซีนมาทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้ทราบต่อไป
เช่นเดียวกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีวัคซีน Sinovac ให้บริการประชาชนเท่านั้น ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปสามารถรับวัคซีน Sinovac ได้ แต่หากประสงค์รับวัคซีน AstraZeneca แจ้งความประสงค์เลื่อนวันนัดได้
อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 (24 พฤษภาคม) นพ.เกียรติภูมิ ได้ออกมาระบุว่า วัคซีน AstraZeneca ได้มีการประกาศไป ก่อนหน้านี้แล้วว่าสามารถรับเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 16 สัปดาห์ จากเดิม 10 สัปดาห์ ซึ่งเลื่อนทั้งหมดให้เป็นล็อตเดียวกัน หมายถึงตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่จะมีการฉีดวัคซีน AstraZeneca
เข็มที่ 1 เป็นเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นเข็มที่ 2 ก็จะเป็นเดือนตุลาคม (ห่างกัน 4 เดือน) เนื่องจากมีข้อมูลวิชาการรองรับว่ามีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันดีกว่า
ณ ช่วงเวลานั้นผู้ที่ต้องรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 ที่ถูกเลื่อน และผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดต่างก็เกิดความสงสัยว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดยเมื่อพลิกดูประวัติของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่ประกาศนโยบายดังกล่าว พบว่า เกิดวันที่ 13 ก.พ. 2505 เป็นแพทย์ด้านจิตเวช ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสุขภาพจิต จบการศึกษาจากคณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2529 วุฒิบัตรจิตเวชศาสตร์ รพ.สมเด็จเจ้าพระยา กรมการแพทย์ ปี 2533 ได้รับอนุมัติบัตรเวชศาสตร์ป้องกันแขนงสุขภาพจิตชุมชน ปี 2547 จบรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2533 จบ Mental Health Policy and Planning มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปี 2538
นอกจากนี้ ยังจบหลักสูตรการบริหารรพ. คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2540 จบนักบริหารการแพทย์และสาธารณสุขระดับสูง กระทรวงสาธารณสุข ปี 2546 จบหลักสูตรนักบริหารระดับสูง รุ่น 46 สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน ปี 2548 จบนักบริหารระดับสูงผู้บริหารการสาธารณสุข (นบส 2) รุ่นที่ 1 ปี 2552 จบ Senior Executive Programme ณ London Business School ประเทศอังกฤษ ปี 2552 จบหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.รุ่นที่ 55) สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ปี พ.ศ. 2555-2556 จบหลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.) รุ่นที่ 6 ปี 2562
-ส่งมอบวัคซีนไม่ทันตามกำหนด
ระยะห่างระหว่างเข็มที่นานขึ้นของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีที่มาจากการที่บริษัทไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ทันกำหนด ซึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศที่ทำการศึกษาหลักอย่างสหราชอาณาจักรและบราซิล เนื่องจากเดิมทีในการศึกษาเฟส 2 ซึ่งเป็นการศึกษาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน กำหนดให้ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์เหมือนวัคซีนอื่น
แต่ในการศึกษาเฟส 3 ซึ่งเป็นการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน บริษัทไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ทันจึงทำให้อาสาสมัครบางส่วนได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 นานออกไป จนเมื่อถึงขั้นตอนการวิเคราะห์ผลการศึกษา ผู้วิจัยได้แยกวิเคราะห์ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนช้ากว่ากำหนดนี้ กลับพบว่ามีประสิทธิภาพดีกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนตามกำหนด
สำหรับผลการศึกษาเฟส 3 เบื้องต้นตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 วิเคราะห์เปรียบเทียบผู้ที่ได้รับวัคซีนห่างกันน้อยกว่า และมากกว่าหรือเท่ากับ 6 สัปดาห์ พบว่า
กลุ่มแรกมีประสิทธิภาพ 54.4% (ช่วงความเชื่อมั่น 95% -2.5 ถึง 78.8 แปลผลว่าไม่มีประสิทธิภาพ)
ขณะที่กลุ่มหลังมีประสิทธิภาพ 65.4% (41.1 ถึง 79.6 แปลผลว่ามีประสิทธิภาพอยู่ในช่วงนี้)
ในเวลาต่อมามีการตีพิมพ์ผลการศึกษาอีกชิ้นในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 รอบนี้มีระยะเวลานานพอที่จะศึกษาระยะห่างระหว่างเข็มได้นานถึง 12 สัปดาห์ โดยคณะผู้วิจัยระบุในเอกสารว่ามี การจัดหาวัคซีนมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนอย่างน้อยในขั้นต้น ผู้กำหนดนโยบายจะต้องตัดสินใจว่าจะกระจายวัคซีนที่มีอยู่อย่างไรให้ดีที่สุด พบว่า
ยิ่งเพิ่มระยะห่างระหว่างเข็มนานขึ้นยิ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้เพิ่มขึ้น ดังนี้
น้อยกว่า 6 สัปดาห์: 55.1%
6-8 สัปดาห์: 59.9%
9-11 สัปดาห์: 63.7%
มากกว่า 12 สัปดาห์: 81.3%
สหราชอาณาจักรจึงตัดสินใจฉีดวัคซีนเข็มแรกแบบปูพรมไปก่อน ซึ่งในงานวิจัยนี้ก็ได้วิเคราะห์ประสิทธิภาพหลังการฉีดวัคซีนเข็มแรก 21 วันจนถึง 90 วันว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้มากถึง 76.0%
การขยายระยะเวลาเพิ่มเป็น 16 สัปดาห์ ยังไม่มีหลักฐานรองรับมากนัก โดยในงานวิจัยดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าอาสาสมัครในกลุ่มมากกว่า 12 สัปดาห์ได้รับการติดตามไปนานถึง 16 สัปดาห์คิดเป็นร้อยละเท่าใด แม้ว่าตามหลักการน่าจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เหมือนกัน แต่ระหว่างที่รอฉีดเข็มที่ 2 ระดับภูมิคุ้มกันและประสิทธิภาพอาจลดลงได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 กลุ่มที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติ (NTAGI) อินเดีย ได้ปรับคำแนะนำการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 จาก 4-8 เป็น 12-16 สัปดาห์หลังจากเข็มแรก ในขณะที่วันถัดมาสหราชอาณาจักรปรับลดระยะห่างลงจาก 12 เป็น 8 สัปดาห์ในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง 9 กลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เพราะความกังวลต่อสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
โดยจากการศึกษาของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของอังกฤษพบว่าวัคซีนเข็มแรก (วิเคราะห์รวมทุกยี่ห้อ) มีประสิทธิผล 33.5% ต่อสายพันธุ์อินเดีย (B1.617.2) ในขณะที่มีประสิทธิผล 51.1% ต่อสายพันธุ์อังกฤษ แต่ถ้าฉีดเข็มที่ 2 แล้วจะมีประสิทธิผลมากกว่า 80% ต่อทั้ง 2 สายพันธุ์
-แพทย์ไทยไม่เห็นด้วยทิ้งระยะ 16 สัปดาห์
ในประเทศไทยก็มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเว้นระยะดังกล่าวเช่นกัน
พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ยืนยันชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยมาตลอดกับการนัดฉีดเข็มที่ 2 ที่ 16 สัปดาห์ ตามนโยบายของปลัดกระทรวงสาธารณสุขตอนแรก เพราะมีข้อมูลจากอังกฤษว่า หลังได้รับวัคซีนเข็มแรกไป 3 ถึง12 สัปดาห์ประสิทธิผลในการป้องกันโควิด 19 สูงถึง 76% แต่หลัง 12 สัปดาห์ประสิทธิผลจะลดลงถ้าไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ถ้าดูจากกราฟจะเห็นว่าประสิทธิผลการป้องกันโรคที่ 16 สัปดาห์เหลือแค่ 25% (ยิ่งถ้าเป็นสายพันธุ์เดลต้าประสิทธิผลน่าจะแย่กว่านี้)
ขณะที่ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บอกถึงผลวิจัยว่า ขณะนี้การศึกษาได้ติดตามกลุ่มที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca จะครบ 1 เดือนหลังฉีดเข็ม 2 ในปลายเดือนนี้ ข้อมูลการฉีดครบ 2 เข็ม ก็จะได้เห็นกัน เลยอยากเอาข้อมูลที่กำหนดระยะห่าง 10 สัปดาห์กับการตรวจพบภูมิต้านทาน ที่ 10 สัปดาห์ ให้ดู เพื่อให้ทราบว่าถึงแม้ว่าเราจะเลื่อนเป็น 12 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันก็คงจะอยู่ระดับนี้ แต่ถ้าเลื่อนเป็น 16 สัปดาห์ เชื่อว่าถ้าภูมิคุ้มกันตกลงก็ไม่น่าจะมากกว่านี้มาก และการกระตุ้นเข็มที่ 2 ของวัคซีน AstraZeneca โดยทั่วไปจะสูงขึ้น 1 log scale กำลังรอติดตามปลายเดือนนี้
และการกระตุ้นภูมิต้านทานถ้าทิ้งระยะห่าง ภูมิต้านทานที่กระตุ้นขึ้นจะสูงกว่า ระยะที่เข็มแรกกับเข็ม 2 เข้ามาชิดกัน แต่ข้อเสียของการเว้นระยะห่าง คือการป้องกันโรคในช่วงเว้นระยะ จะมีประสิทธิภาพยังไม่เต็มที่ ถ้ามีวัคซีนมากพอก็ไม่ควรเว้นระยะห่าง ในยามขาดแคลนวัคซีน หรือต้องการปูพรมคนหมู่มาก การได้เข็มเดียวก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ปัญหาจึงอยู่ที่ทรัพยากรที่เราจะมีมาโดยเฉพาะวัคซีนถ้าหามาได้มากก็ไม่ควรจะเว้นระยะห่างไปถึง 16 สัปดาห์ กลยุทธ์ในด้านระบาดวิทยาจึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :