"เตียงผู้ป่วยโควิดวิกฤติ" จะปล่อยให้เป็นแบบนี้อีกนานเท่าไร

25 มิ.ย. 2564 | 01:35 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2564 | 04:13 น.

หมอนิธิพัฒน์ตั้งคำถาม จะปล่อยให้สถานการณ์โควิดเป็นแบบนี้อีกนานเท่าไหร่ หลังเตียงผู้ป่วยวิกฤต ระบุเพิ่มได้อีกเพียงแค่ 35 เตียง

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า 
    คณิตคิดสนุก
    ระลอกแรกกรุงเทพมีไอซียูโควิดที่ใช้งานจริงได้ 200 เตียง
    ระลอกสองขยายขึ้นมาได้เป็น 300 เตียง 
    ระลอกสามจนถึงขณะนี้เบ่งมาเกือบเต็มที่แล้วเป็น 500 เตียง ใช้ไปแล้ว 475 จึงเหลือว่าง 25 เตียง
    ใน 475 เตียงนี้ เป็นผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ 300 เตียง ใช้ไฮโฟลว์หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่น 175 เตียง
    ในอีก 10 วันข้างหน้า
    อัตราเสียชีวิตผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ คือ 50% จะมีผู้เสียชีวิต 150 คน
    ส่วนอีก 150 คนที่เหลือจะย้ายออกจากไอซียูได้หนึ่งในสาม คือ 50 คน
    จะมีผู้ป่วยใช้ไฮโฟลว์หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่นอาการทุเลาออกจากไอซียูโควิดได้ร้อยละ 80 คือ 140 คน 
    จึงเหลือเตียงว่างเป็น 25+150+50+140 = 365 เตียง
    หากมีผู้ป่วยใหม่วันละ 1,000 คน รวม 10 วัน คิดเป็น 10,000 คน
    ผู้ป่วยโควิดใหม่ทุกๆ 100 คนโรคจะลุกลามจนต้องใช้ไอซียูโควิด 5 คน ดังนั้นจะต้องเตรียม 500 เตียง
    ดังนั้นเตียงที่ยังขาดอยู่คือ 500-365 = 135 เตียง จะได้จากไหน
    เราคงเพิ่มได้อีกเพียง 35 เตียง 
    ที่เหลือ 100 เตียงจะต้องไปดึงมาจากผู้ป่วยโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด
    ถามว่าเราจะยอมให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไร หรือต้องรออิตาลีเป็นแชมป์ยูโร 2020 ในอีกกว่าสองสัปดาห์ข้างหน้าจึงเริ่มคิดเรื่องนี้
    #วิกฤตโควิดระลอกสี่ #ล็อคดาวน์กรุงเทพ
    อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ "หมอนิธิพัฒน์" ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอไปแล้ว โดยระบุว่า
    ดูเหมือนเราจะจนตรอกมีทางเลือกไม่มากแล้ว ให้ลองพิจารณาสถานการณ์โควิดในกทม.ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนี้
        1. ยอดผู้ป่วยใหม่รายวันไม่ลดลงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปเกินสี่หลัก
        2. อัตราการตรวจพบเชื้อรายใหม่ในการตรวจเชิงรับ คือ ตรวจผู้ที่เข้ารับการตรวจในโรงพยาบาลทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งรัฐและเอกชน สูงกว่า 10% ทั้งๆ ที่แต่ละโรงพยายามตรวจให้น้อยเพราะไม่มีเตียงรับผู้ป่วยถ้าผลเป็นบวก

        3. มีสัดส่วนผู้ป่วยเด็กมากขึ้นกว่าระลอกก่อนๆ แสดงว่าโรคระบาดซึมลึกเข้าไปในครอบครัวและชุมชน โชคดีว่ากลุ่มนี้อาการไม่รุนแรง แต่สร้างปัญหาการจัดเตรียมเตียงดูแลทั้งในรพ.หลักและรพ.สนามสำหรับเด็กอายุน้อย
        4. มีสัดส่วนผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังเสี่ยงมากขึ้น แสดงว่าโรคระบาดซึมลึกเข้าไปในครอบครัวและชุมชนอีกเช่นกัน ทำให้การใช้เตียงในรพ.หลักติดขัด จำนวนเตียงระดับ 2 และ 3 ที่ขยายศักยภาพมาหลายรอบเหลือไม่ถึง 5% ตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต กลับมาเพิ่มขึ้นใหม่และอาจทำนิวไฮ
    ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)  ในประเทศไทยวันที่ 25 มิถุนายน 64 นั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม 3,644 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,482 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 162 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 207,428 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 44 ราย หายป่วยเพิ่ม 1,751 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 165,680 ราย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :