3 เรื่องหลักต้องระวัง "หมอธีระ" แนะหยุดวาทกรรมกระมิดกระเมี้ยนรายงานผู้ติดเชื้อโควิด

26 มิ.ย. 2564 | 08:30 น.

หมอธีระเผย 3 เรื่องหลักต้องพึงระวัง แนะหยุดวาทกรรมกระมิดกระเมี้ยนรายงานผู้ติดเชื้อโควิด ชี้การระบาดรอบนี้สาหัส

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
    สถานการณ์ทั่วโลก 26 มิถุนายน 2564...
    ทะลุ 181 ล้านไปแล้ว โดยรัสเซียแซงตุรกีขึ้นอันดับ 5 
    เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 396,021 คน รวมแล้วตอนนี้ 181,154,927 คน ตายเพิ่มอีก 8,202 คน ยอดตายรวม 3,924,201 คน
    5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิม คือ บราซิล อินเดีย โคลอมเบีย อาร์เจนติน่า และรัสเซีย
    อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 14,017 คน รวม 34,481,220 คน ตายเพิ่ม 368 คน ยอดเสียชีวิตรวม 619,126 คน อัตราตาย 1.8% 
    อินเดีย ติดเพิ่ม 49,052 คน รวม 30,182,469 คน ตายเพิ่ม 1,186 คน ยอดเสียชีวิตรวม 394,524 คน อัตราตาย 1.3% 
    บราซิล ติดเพิ่ม 79,277 คน รวม 18,322,760 คน ตายเพิ่มถึง 1,860 คน ยอดเสียชีวิตรวม 511,142 คน อัตราตาย 2.8%  
    ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 1,986 คน ยอดรวม 5,766,315 คน ตายเพิ่ม 33 คน ยอดเสียชีวิตรวม 110,939 คน อัตราตาย 1.9%
    รัสเซีย ติดเพิ่ม 20,393 คน รวม 5,409,088 คน ตายเพิ่ม 601 คน ยอดเสียชีวิตรวม 132,064 คน อัตราตาย 2.4% ระลอกสามนี้มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า อิตาลี และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
    แถบอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี โบลิเวีย แอฟริกาใต้ แซมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพัน
    แอฟริกาใต้ระลอกสามขาขึ้นยังหยุดไม่อยู่ ล่าสุดเพิ่มถึง 18,762 คน
    แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน และมองโกเลียที่ยังหลักพัน 
    แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ส่วนอิหร่านตอนนี้ยังเกินหมื่น
    เกาหลีใต้ เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน ออสเตรเลีย ลาว และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
    3 เรื่องหลัก ที่พึงระวัง...
    หนึ่ง "รายงานติดเชื้อเยอะ เพราะเราตรวจเชิงรุก"
    นี่คือคำตอบที่มักถูกกล่าวอ้างมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขอให้ฟังโดยใช้ความคิดไตร่ตรองให้ดี การตรวจเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เรารู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ  ถ้าติดเชื้อแล้วไปตรวจก็ต้องได้ผลว่าติดเชื้อ ถ้าไม่ติดเชื้อแล้วไปตรวจก็ย่อมตรวจได้ผลว่าไม่ติดเชื้อ ถ้าติดเชื้อแล้วไม่ได้ไปตรวจ จะเพราะติดกฎเกณฑ์ค่าใช้จ่ายหรือระบบมีการหยุดตรวจ ก็ย่อมไม่มีทางเจอว่าติดเชื้อ
    ดังนั้นการที่มีรายงานติดเชื้อใหม่จำนวนมาก จึงเป็นเพราะปัจจุบันสถานการณ์การระบาดรุนแรง คนที่ติดเชื้อจึงมีมากจริงๆ และแสดงว่ามีโอกาสที่จะมีคนติดเชื้ออีกมากในสังคมที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการการตรวจได้ ทั้งๆ ที่ควรตรวจให้มาก ครอบคลุม และต่อเนื่อง โดยไม่ติดกฎเกณฑ์ค่าใช้จ่าย หรือการมีอาการและประวัติเสี่ยง
    บทสรุป: 
    ควรหยุดวาทกรรมกระมิดกระเมี้ยนแบบ"รายงานติดเชื้อใหม่เยอะเพราะตรวจเชิงรุกมาก" ที่จะนำไปสู่การบ่มเพาะให้คนหลงเข้าใจกับความไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงลึกซึ้งถึงต้นตอ แต่ควรยอมรับความจริงและบอกสาธารณะไปตรงๆ ว่า"รายงานติดเชื้อใหม่เยอะเพราะการระบาดมันรุนแรง ยังคุมไม่ได้ แต่เราจะพยายามขยายการตรวจให้มากขึ้นเพื่อให้คนติดเชื้อที่มีอยู่ในสังคมจำนวนมากได้ทราบสถานะการติดเชื้อ และรีบนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา" 
    สอง "ข่าวสามีภรรยาติดโควิด แต่ภรรยาเสียชีวิตระหว่างรอเตียง"
    เหตุการณ์นี้สะท้อนปัญหาในการวางแผนนโยบายและบริหารจัดการระบบสาธารณสุขที่จะตอบสนองต่อวิกฤติของสังคม เหตุผลหลักคือเรื่อง Responsiveness ที่เป็นเป้าหมายหนึ่งในสี่เรื่องหลักตามที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ใน Health Systems Building Blocks อันประกอบด้วยการทำให้ประชาชนสุขภาพดี (Improve health) ตอบสนองต่อปัญหา (Responsiveness) ป้องกันความเสี่ยงทางการเงินและสังคม (Social and financial risk protection) และจัดบริการทางการแพทย์อย่างคุ้มค่า (Efficiency)
    บทสรุป:
    วิกฤติโรคระบาดนี้หนักหนาสาหัส และตอกย้ำให้เราเห็นกันชัดเจนแล้วว่า เอาอยู่ไหม เพียงพอไหม และมีประสิทธิภาพหรือไม่ การประเมินขนาด และความรุนแรงของภัยคุกคามสุขภาพนั้น จำเป็นต้องใช้ความรู้ และจริตในการคิดวางแผนรับมือ ที่ไม่ประเมินผลกระทบต่ำกว่าที่ควร เพราะหากผิดพลาด จะนำไปสู่การสูญเสีย ทั้งในแง่การเจ็บป่วย การเสียชีวิต รวมถึงค่าใช้จ่ายและผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม และหลายครั้งเป็น The train with no return ดังนั้นการวางแผนจึงสำคัญมาก
    สาม "ปิดแคมป์กทม. ปริมณฑล และบางจังหวัดในภาคใต้"
    ตามที่ทราบกันจากข่าวเมื่อวานนี้ แม้จะวางแผนว่าจะปิดแคมป์ โดยชดเชยรายได้ 50% พร้อมจัดหาที่พักและอาหารให้แก่คนงานในแคมป์ โดยหวังว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายไปต่างจังหวัด ระหว่างหนึ่งเดือนที่ปิด และหวังว่าจะจัดการโรคระบาดได้ โดยแท้จริงแล้ว ภาวะดังกล่าวที่กำลังจะทำนั้น อาจทำให้คนงานตัดสินใจทำแบบ Risk taking for loss มากกว่า Risk avoidance for profit
    แปลง่ายๆ คือ คนงานน่าจะตกอยู่ภาวะที่กำลังจะสูญเสีย นั่นคือสูญเสียรายได้ไปครึ่งหนึ่ง และที่สำคัญกว่านั้นคือ การรับรู้ถึงความเสี่ยงที่จะถูกกักตัวในบริเวณที่กำหนดซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อแพร่เชื้อได้สูง ดังที่เราทราบกันดีว่ามีความชุกในการติดเชื้อโควิด-19 สูงในแคมป์ก่อสร้าง นี่จึงเป็น loss สำคัญในแง่โอกาสเกิดการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อ หากคาดการณ์ไม่ผิดจากที่อธิบายข้างต้น คนที่คิดเช่นนี้ย่อมมีแนวโน้มจะไม่อยู่เฉย และหาทางออกไปที่อื่นเพื่อเลี่ยงการสูญเสียของตน
    นอกจากนี้ ความหวังของหน่วยงานที่คิดว่าจะปิดแคมป์เพื่อจัดการการระบาดให้ได้นั้น น่าจะสะท้อนถึงวัตถุประสงค์หลักที่จะบรรเทาการระบาด มากกว่าควบคุมให้ได้ เพราะแคมป์ก่อสร้างเป็นเพียงส่วนเดียวของการระบาดในเมือง โดยแท้จริงแล้วการระบาดกระจายไปทั่ว จนแทบทุกคนในสังคมมีโอกาสที่จะติดเชื้อแพร่เชื้อได้ ต่อให้จัดการเรื่องแคมป์ก่อสร้าง รวมถึงบางกิจการเสี่ยง ก็ไม่เพียงพอสำหรับการควบคุมการระบาดในสถานการณ์ปัจจุบัน
    บทสรุป:
    น่าจะมีแนวโน้มการเคลื่อนย้ายไปที่ต่างๆ ในช่วงวันสองวันนี้้ ก่อนประกาศปิดแคมป์วันจันทร์ ดังนั้นพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศควรเฝ้าระวัง และช่วยกันตรวจตราการเข้าออกของคนจากต่างพื้นที่ให้ดี อาจมีโอกาสเกิดการระบาดแบบกระจายได้ในช่วงต้นถึงกลางเดือนหน้า
    ส่วนประชาชนอย่างพวกเรา การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
    ด้วยรักและห่วงใย
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 26 มิถุนายน 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมทควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
    ติดเชื้อเพิ่ม 4,161 ราย
    สะสมระลอกสาม 211,589 ราย
    สะสมทั้งหมด 240,452 ราย
    ออกจากโรงพยาบาลได้ 3,569 รายสะสม 169,249 ราย
    เสียชีวิตเพิ่ม 51 ราย
    สะสมระลอกสาม 1,776 ราย
    สะสมทั้งหมด 1,870 ราย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :