"ล็อกดาวน์ กทม." หมอธีระชี้ 3 ประเด็นหลักที่ต้องเตรียมรับมือ

27 มิ.ย. 2564 | 06:25 น.

หมอธีระชี้ 3 ประเด็นหลักที่ต้องเตรียมรับมือ หลังราชกิจจานุเบกษาประกาปิดแคมป์คนงานในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คล้ายกึ่งล็อกดาวน์ กทม.และปริมณฑล

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
    สถานการณ์ทั่วโลก 27 มิถุนายน 2564...
    เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 357,532 คน รวมแล้วตอนนี้ 181,526,379 คน ตายเพิ่มอีก 7,058 คน ยอดตายรวม 3,932,126 คน
    5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ บราซิล อินเดีย โคลอมเบีย รัสเซีย และอินโดนีเซีย
    อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 5,718 คน รวม 34,488,957 คน ตายเพิ่ม 147 คน ยอดเสียชีวิตรวม 619,333 คน อัตราตาย 1.8% 
    อินเดีย ติดเพิ่ม 49,851 คน รวม 30,232,320 คน ตายเพิ่ม 1,256 คน ยอดเสียชีวิตรวม 395,780 คน อัตราตาย 1.3% 
    บราซิล ติดเพิ่ม 64,134 คน รวม 18,386,894 คน ตายเพิ่มถึง 1,463 คน ยอดเสียชีวิตรวม 512,735 คน อัตราตาย 2.8%  
    ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 2,128 คน ยอดรวม 5,768,443 คน ตายเพิ่ม 12 คน ยอดเสียชีวิตรวม 110,951 คน อัตราตาย 1.9%
    รัสเซีย ติดเพิ่ม 21,665 คน รวม 5,430,753 คน ตายเพิ่ม 619 คน ยอดเสียชีวิตรวม 132,683 คน อัตราตาย 2.4% ระลอกสามนี้มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า อิตาลี และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
    โคลอมเบียติดเชื้อใหม่ทำสถิตินิวไฮ 33,594 คน สูงกว่าระลอกแรกกว่า 3 เท่า และมากกว่าระลอกที่ผ่านมา 1.6 เท่า ตายเพิ่มเกือบเจ็ดร้อยคน คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะแซงอิตาลีขึ้นเป็นอันดับ 9 ของโลก
    แถบอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี โบลิเวีย แอฟริกาใต้ แซมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพัน
    แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน และมองโกเลียที่ยังหลักพัน 
    แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน 
    เกาหลีใต้ และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน เวียดนาม ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ลาว นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
    ภาพรวมประจำสัปดาห์ ทั่วโลกมีติดเชื้อเพิ่มขึ้น 0.6% แต่เสียชีวิตลดลง 3%
    จำนวนการติดเชื้อรายสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นนั้น เห็นชัดเจนในทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย
    ส่วนจำนวนการเสียชีวิตนั้นเพิ่มขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือ และแอฟริกา

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
    สำหรับไทยเรา สถิติติดเชื้อรายสัปดาห์เพิ่มถึง 22% และเสียชีวิตเพิ่ม 38% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า
    ราชกิจจานุเบกษาประกาศเมื่อคืนนี้ โดยปิดแคมป์คนงานในพื้นที่กทม.และปริมณฑล รวมถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นเวลาหนึ่งเดือน ทั้งนี้มีการปรับให้ร้านอาหารขายแบบนำกลับเท่านั้น และงดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 20 คน
มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องเตรียมรับมือ
    1. "ปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง" 
    เกิดในสองกลุ่มหลักคือ คนงานจากแคมป์ และผู้ติดเชื้อที่ไม่มีเตียงในกทม.และปริมณฑล ดังเห็นจากข่าวตั้งแต่วันก่อน คนงานจำนวนไม่น้อยเริ่มกระจายทยอยออกต่างจังหวัด หรือกลับถิ่นฐาน ตามแบบแผนพฤติกรรมมนุษย์ที่คาดการณ์ได้ เพราะตกอยู่ในภาวะ Risk taking for loss เฉกเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่รอเตียงเป็นเวลานาน ก็เริ่มหาทางไปรับการดูแลรักษาในต่างจังหวัด
    สิ่งที่ควรพิจารณา:
    - แต่ละจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ควรเตรียมระบบในการตรวจตราคนที่เดินทางมาจากต่างถิ่น และให้กักตัวเพื่อสังเกตอาการ หรือนำสู่ระบบการตรวจคัดกรองโรค หรือดูแลรักษา เพราะหากหลุด จะพบกับการระบาดแบบดาวกระจายในช่วงต้นถึงกลางเดือนหน้า
    - โรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ควรเตรียมแผนจัดสรรทรัพยากรคนเงินของและหยูกยาให้พร้อมรับมือ ทั้งในกรณีการระบาดปะทุแบบดาวกระจายจากแคมป์คนงาน และในกรณีที่จะมีผู้ติดเชื้อจากพื้นที่ระบาดหนักเดินทางไปขอรับการดูแลรักษา สิ่งที่ต้องเตรียมให้มากคือ การแบ่งทีมงานเผื่อสลับเวลาเกิดปัญหาการติดเชื้อจากการปฏิบัติงาน เตรียมระบบการตรวจคัดกรองโรคให้เพียงพอ และที่สำคัญคือ อุปกรณ์ป้องกัน และยา
    - จังหวัดที่มีความเป็นเมืองสูง ควรถึงเวลาที่จะระดมทรัพยากร จัดระบบการตรวจคัดกรองโรคให้สามารถทำได้มากและต่อเนื่อง และควรเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ตรวจได้ฟรี ไม่ติดกฎเกณฑ์เรื่องอาการหรือประวัติเสี่ยง 
    2. "The weakest link ในกทม.และปริมณฑล" แม้จะมีการประกาศมาตรการเข้มข้น คล้ายกึ่งล็อคดาวน์ก็ตาม แต่ประเมินแล้วยากที่จะควบคุมการระบาดได้ในเวลาสั้น เพราะจุดอ่อนสำคัญที่สุดคือ ระบบการตรวจคัดกรองโรคที่ยังมีจำกัด ไม่ครอบคลุม เข้าถึงได้ยาก จำนวนการติดเชื้อในระลอกสามของเราตอนนี้มีมาก และปล่อยไว้ยาวนานต่อเนื่อง จึงกระจายไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะจุดเสี่ยงกิจกรรมเสี่ยงกิจการเสี่ยงอีกต่อไป ความเป็นจริงนั้นย่อมเห็นชัดเจนว่าทุกคนในสังคมมีโอกาสติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว 
    หากไม่มีระบบบริการตรวจคัดกรองโรคที่มากพอ ง่ายพอ เข้าถึงได้ การติดเชื้อแพร่เชื้อย่อมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในที่พักอาศัยในลักษณะบ้านเรือน หอพัก แฟลต คอนโด หรือชุมชนแออัด รวมไปถึงในที่ทำงานและสถานประกอบกิจการต่างๆ ดังนั้นถึงทำมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ไปหนึ่งเดือน ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก็จะยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่
    สิ่งที่ควรพิจารณา:
    - กทม.และจังหวัดปริมณฑล ควรทุ่มทรัพยากรเพื่อจัดระบบบริการตรวจคัดกรองโรคให้มีศักยภาพมากกว่าที่มีในปัจจุบัน ทำในหลายรูปแบบ ทั้งการตรวจในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน จุดให้บริการตรวจในชุมชน รถเคลื่อนที่ และอาจต้องจัดทีมเพื่อดำเนินการ knock the door and do the test ในพื้นที่ที่จำเป็น 
    - รัฐควรปลดล็อคกฎเกณฑ์การตรวจคัดกรองโรค ให้ทุกคนในประเทศ ทั้งไทยและต่างชาติ สามารถรับบริการตรวจได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการ มีประวัติเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงก็ตาม ทั้งนี้โปรดตระหนักไว้ว่า โดยปกติแล้วไม่มีใครอยากไปโดนแยงจมูกให้เจ็บตัวแน่นอน การตรวจให้มากและเร็วจะช่วยให้เจอคนที่ติดเชื้อและนำสู่การดูแลรักษาเพื่อตัดวงจรการระบาดและช่วยรักษาชีวิตคนได้มาก
    3. "การกักตัวที่บ้าน (Home isolation)"
    ปัญหาเตียงไม่พอในกทม.และปริมณฑล เพราะมีคนติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้มีหลายหน่วยงานพยายามคิดวางแผนจะให้ทำการกักตัวที่บ้าน หรือ home isolation ก่อนตัดสินใจ จำเป็นจะต้องวางแผนให้ดี ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในกทม.และปริมณฑล ที่มีความเป็นเมืองสูง การทำ Home isolation คงทำได้แค่บางบ้านที่มีพื้นที่ แต่หากไม่มีพื้นที่พอ แยกอยู่แยกกินแยกสุขาแยกนอนไม่ได้ คงจะต้องเน้นใส่หน้ากาก หมั่นถามไถ่สังเกตอาการสมาชิกในบ้าน และจัดบริการตรวจคัดกรองโรคให้ทุกคนในบ้านเป็นระยะ คาดว่าหากเราต้องทำมาตรการกักตัวที่บ้านจริงๆ ไทยเราคงจะมีโอกาสระบาดหนักทีเดียวครับ คงต้องช่วยกันประคับประคองหารูปแบบที่เหมาะสม ความรู้ปัจจุบัน โอกาสเฉลี่ยในการติดในบ้าน 30%
    สิ่งที่ควรพิจารณา:
    - วางแผนการนำส่งผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีเตียงรักษา ไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่ยังพอมีทรัพยากรรองรับ ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่ามีทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอ
    - หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำ home isolation หัวใจสำคัญที่สุดคือ การจัดบริการตรวจคัดกรองโรคให้แก่ทุกคนในบ้านหรือที่อาศัยร่วมกัน การจัดอุปกรณ์ป้องกัน ทั้งหน้ากาก และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ ให้แก่ประชาชนและผู้ติดเชื้ออย่างเพียงพอ และระบบสนับสนุนในชุมชน เรื่องอาหารการกินและน้ำดื่ม
    ศึกนี้ยาวและหนักมาก ขอให้เราเป็นกำลังใจให้กันและกัน มีพลังใจในการต่อสู้กับโรคระบาดนี้ ป้องกันตัวและสมาชิกในครอบครัวอย่างเต็มที่ ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
    ด้วยรักและห่วงใย
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 27 มิถุนายน 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
    ติดเชื้อเพิ่ม 3,995 ราย
    สะสมระลอกที่สาม 215,584 ราย
    สะสมทั้งหมด 244,447 ราย
    ออกจากโรงพยาบาลได้ 2,253 ราย
    สะสม 171,502 ราย
    เสียชีวิตเพิ่ม 42 ราย
    สะสมระลอกที่สาม 1,818 ราย
    สะสมทั้งหมด 1912 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :