พบโควิด “สายพันธุ์เบตา” รายแรกใน กทม.เชื่อมโยงนราธิวาส

28 มิ.ย. 2564 | 06:45 น.

ห่วงพื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น ซ้ำตรวจพบ “สายพันธุ์เบตา”  (แอฟริกาใต้) เพิ่มขึ้นในเขตจ. นราธิวาส เชื่อมโยงการตรวจพบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวรายแรกในกทม.

สืบเนื่องจากพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงวานนี้ (27 มิ.ย.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ว่าได้หารือกับ ศปก.ศบค.สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน พื้นที่ กทม.และปริมณฑล ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ใน พื้นที่ภาคใต้บางจังหวัด ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อจากระบบบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ป่วยอาการรุนแรงและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมีมากขึ้น

"การแพร่กระจายของโรคพื้นที่โรงงาน ตลาด แคมป์ก่อสร้าง ยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ผู้ติดเชื้อมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนจากงานเลี้ยง และที่น่าเป็นห่วงคือพื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น และ ตรวจพบโรคสายพันธุ์แอฟริกาใต้(สายพันธุ์เบตา) ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง พบผู้ติดเชื้อจากสถานประกอบการ โรงงาน และตลาดขนาดใหญ่"

ด้านกระทรวงสาธารณสุขมีรายงานว่า เบื้องต้นได้รับรายงานพบ ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เบตา ( ซึ่งเดิมเรียกสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เนื่องจากมีการตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้) ในพื้นที่ กทม. 1 คน โดยจากการสอบสวนโรคพบความเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อ จ.นราธิวาส ซึ่งก่อนหน้านี้ จากการเฝ้าระวังและตรวจติดตามโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่พบเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) กรณีนี้ถือเป็นรายแรกที่พบในพื้นที่ กทม.

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในประเทศไทยวันนี้ (28 มิ.ย.) ว่า เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพรวมทั้งประเทศ มีการตรวจพบ

  • ไวรัสสายพันธุ์แอลฟา (อังกฤษ) 80.19%
  • สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 16.59%
  • สายพันธุ์ เบตา (แอฟริกาใต้) 3.2%

นับว่าสายพันธุ์เบตา หรือสายพันธุ์แอฟริกา ที่ตรวจพบทางจังหวัดภาคใต้ก่อนจะพบในพื้นที่กทม.ล่าสุดนี้ ยังเป็นสัดส่วนน้อย แต่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดในวันนี้ (28 มิ.ย.) มีการตรวจพบทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 89 ราย ทำให้มียอดสะสม 127 ราย ถือว่าค่อนข้างมาก ในช่วงสัปดาห์นี้พบที่สุราษฎร์ธานี 1 ราย นราธิวาส 84 ราย ยะลา 2 ราย พัทลุง 1 ราย และกรุงเทพฯ 1 ราย

สำหรับ กทม. พบว่าผู้ป่วยเป็นลูกจ้างในตลาดแห่งหนึ่ง ลูกเดินทางมาจากนราธิวาส ขณะที่ลูกระหว่างเดินทางมายังไม่พบอาการอะไร หลังจากกลับจากเยี่ยมพ่อ พบว่าติดเชื้อ ส่วนพ่อเมื่อตรวจก็พบว่าติดเชื้อและเป็นสายพันธุ์เบตา ส่วนญาติอีก 2 คน พบว่าติดเชื้อและกำลังตรวจสายพันธุ์

“การที่เราไม่ได้ห้ามการเดินทางภายในประเทศ ก็อย่าไปแปลกใจที่จะพบเชื้อแพร่ไปที่อื่น ๆ แต่สำหรับสายพันธุ์เบตา พบว่าฤทธิ์ในการแพร่กระจายไม่ได้สูงนัก ที่เป็นห่วง คือสายพันธุ์อินเดีย (สายพันธุ์เดลตา) ที่มีฤทธิ์การแพร่ระบาดได้มากกว่า” นพ.ศุภกิจกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่กทม. พบสัดส่วน 1 ใน 3 ของไวรัสโควิด-19 ที่ตรวจพบเป็นสายพันธุ์เดลตา 32.39% ในขณะที่ระดับภูมิภาค เดลตาขยับสัดส่วนเป็น 7% จากเดิม 5% ทำให้คาดว่า ในเวลาอีก 2-3 เดือน สายพันธุ์เดลตา อาจจะกลายเป็นโควิดสายพันธุ์หลัก ที่ครองสัดส่วนมากกว่าสายพันธุ์อัลฟาเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง