รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
กรุงเทพฯ พบไวรัสสายพันธุ์เบต้าแล้วหนึ่งราย และพบสายพันธุ์เดลต้ามากถึงหนึ่งในสามของการตรวจ
วันนี้ (28 มิถุนายน 2564) อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดแถลงข่าวต่อสาธารณะ ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์ของประเทศไทย ไวรัสสายพันธุ์เบต้าหรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้เดิม พบผู้ติดเชื้อแล้วหนึ่งรายในกรุงเทพมหานคร โดยมีประวัติสัมผัสกับลูก ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดนราธิวาส เมื่อตรวจญาติที่อยู่ด้วยกันสองราย พบติดเชื้อแต่ยังไม่ทราบชนิดของสายพันธุ์ตรวจเพื่อนร่วมงาน 6-7 ราย ผลเป็นลบ
สถานการณ์ของไวรัสสายพันธุ์เบต้าส่วนใหญ่แล้ว จะอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจพบเพิ่ม 89 ราย รวมพบทั้งสิ้น 127 ราย
ส่วนไวรัสสายพันธุ์เดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดีย ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจพบเพิ่ม 459 ราย รวมตรวจพบทั้งสิ้น 1120 ราย
สายพันธุ์อัลฟ่าหรือสายพันธุ์อังกฤษ สัปดาห์นี้ตรวจพบ 2200 ราย รวมตรวจพบทั้งสิ้น 7800 ราย จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการเพิ่มของสัปดาห์นี้ ต่อจำนวนติดเชื้อรวมก่อนหน้านั้น
สายพันธุ์เดลต้าคิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 69% เบต้า 42% และอัลฟ่า 39% ถ้าสัดส่วนตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มของไวรัสแต่ละสายพันธุ์ ยังเป็นอย่างนี้ คาดว่าในอีก 2-3 เดือน สายพันธุ์เดลต้าจะเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศไทยต่อไป
ลักษณะการกระจายของสายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทย อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครเป็นหลักคือ พบ 26% ของจำนวนการถอดรหัสไวรัสของผู้ติดเชื้อ (เฉพาะสัปดาห์นี้พบมากถึง 1 ใน 3 ) และพบในส่วนภูมิภาค 5%
ลักษณะเด่นของไวรัสแต่ละสายพันธุ์ สามารถพิจารณาได้จากสามปัจจัยคือ
1.ความสามารถในการแพร่ระบาดโรค ว่ารวดเร็วและกว้างขวางเพียงใด
2.ความสามารถในการทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง ว่ามากน้อยเพียงใด
3.ความสามารถในการดื้อต่อวัคซีน
จะพบว่าสายพันธุ์อัลฟ่ามีความสามารถในการแพร่ระบาดเพิ่มจากสายพันธุ์เดิม 70% ส่วนความสามารถในการทำให้เจ็บป่วยและดื้อต่อวัคซีนเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า มีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงสุด มากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าและเบต้า ส่วนความสามารถในการทำให้เจ็บป่วยรุนแรง และดื้อต่อวัคซีน อยู่ในระดับไม่มากนักเช่นกัน ไวรัสสายพันธุ์เบต้า มีความสามารถในการทำให้เจ็บป่วยรุนแรงและดื้อต่อวัคซีนมากที่สุด แต่ความสามารถในการแพร่ระบาดนั้นน้อยกว่าอีกสองสายพันธุ์
กล่าวโดยสรุป
ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า จะแพร่กระจายได้รวดเร็วที่สุด คาดว่าจะเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ความรุนแรงของการก่อให้เกิดเจ็บป่วย และการดื้อต่อวัคซีนไม่เท่ากับสายพันธุ์เบต้า
ส่วนไวรัสสายพันธุ์เบต้า ซึ่งก่อให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรงและดื้อต่อวัคซีนได้มาก แต่มีความสามารถในการแพร่ระบาดต่ำ จึงไม่น่าจะระบาดในวงกว้างจนเป็นสายพันธุ์หลักแต่อย่างใด
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 28 มิถุนายน 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 5,406 ราย
สะสมระลอกสาม 220,990 ราย
สะสมทั้งหมด 249,853 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 3,343 ราย
สะสม 174,845 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย
สะสมระลอกสาม 1,840 ราย
สะสมทั้งหมด 1,934 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :