เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุให้ได้ 70% หมอชนบท เชื่อ ลดการเสียชีวิตจากโควิด-19

05 ก.ค. 2564 | 02:30 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2564 | 09:30 น.

ฟันธง ก.ค.วิกฤติโควิด-19 ของจริง "หมอชนบท" แนะ รัฐเดินหน้ายุทธศาสตร์ เร่งฉีดวัคซีนต้านโควิดให้กลุ่มผู้สูงอายุทั่วประเทศให้ได้ 70% เชื่อ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้

5 กรกฎาคม 2564 สถานการณ์ยอดติดเชื้อโควิด-19 ของไทยขยับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ล่าสุด เพจ ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 18 : 05-07-64” โดยระบุว่า เราชะลอการระบาดไม่อยู่แล้ว แต่เราลดจำนวนการตายได้ ด้วยยุทธศาสตร์ “กรกฎาคม เร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุทั่วไทย”

ในท่ามกลางข้อจำกัดวัคซีนมาน้อย แอสตร้ามีไม่มาก  จากเดิมที่สยามไบโอไซน์จะส่งมอบเดือนละ 4 ล้านโดส ที่เหลือส่งออก แต่ด้วยแรงกดดันมากมายจากประชาชน แอสตร้าจึงน่าส่งมอบที่ 5 ล้านโดส  ยีงมีแอสตร้าบริจาคจากญี่ปุ่นอีก 1 ล้านโดส  ไพเซอร์บริจาคจากอเมริกาอีก 1 ล้านโดส เติมด้วยซิโนแวคอีก 3 ล้านโดส เดือนกรกฎาคมนี้ประเทศไทยจะมีราว 10 ล้านโดส

บัดนี้อัตราการติดเชื้อใหม่ได้ทะลุเพดาน 5,000 คนต่อวัน และตายเพิ่มขึ้นกว่า 60 รายต่อวันไปแล้ว อนาคตอาจถึง 100 คนต่อวันในไม่ช้า คำถามคือ เราควรใช้วัคซีนที่มีไม่มากไปที่คนกลุ่มใด จึงจะเกิดผลดีที่สุดต่อการสู้ภัยโควิด

ต้องบอกก่อนว่า ที่ผ่านมา การกระจายวัคซีนนั้นใช้ยุทธศาสตร์รักพี่เสียดายน้อง  จัดให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคผ่านหมอพร้อม จัดให้ประกันสังคมไปกระจายด้วย จัดให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยไปจัดสรรกันเอง จัดสรรให้เมืองท่องเที่ยวเพื่อเตรียมเปิดเมือง  จัดสรรให้พื้นที่ระบาดหนักคือกรุงเทพแต่กลับเทไปผิดกลุ่มไปทางไทยร่วมใจจนวัยรุ่นได้ฉีดก่อนพ่อแม่ปู่ย่าที่บ้าน นี่คือยุทธศาตร์การกระจายวัคซีนแบบไม่มียุทธศาสตร์

กรกฎาคมนี้วิกฤตจริง เตียง ICU เต็มหมดแล้วทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เตียงของโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็ล้นจนขยายไม่ไหวแล้ว โรงพยาบาลสนามก็ล้น ผู้คนตกค้างรอเตียงที่บ้าน สธ.และ สปสช.ถึงกับต้องออกระเบียบว่าด้วยการกักตัวที่บ้านหรือ home isolation มาใช้ เชื่อว่า ผู้เสียชีวิตจะทะลุเพดานที่ 100 คนต่อวันในไม่ช้า หากไม่ได้ทำอะไรอย่างมียุทธศาสตร์

เราต้องเข้าใจก่อนว่า 70% ของผู้เสียชีวิตนั้นมีอายุมากกว่า 60 ปี ธรรมชาติของโรคโควิดนั้น คนอายุมากจะป่วยหนักและมีโอกาสเชื้อลงปอดเกิดปอดบวมสูงกว่าคนอายุน้อย ดังนั้นหลายประเทศจึงใช้ยุทธศาสตร์ฉีดวัคซีนไปตามอายุ

ตัวอย่างประเทศที่ทำเช่นที่ว่านี้ คือประเทศอังกฤษ เขาก็ใช้แอสตร้าฉีดผู้สูงอายุ ไล่ตั้งแต่คนอายุ 90 ปีขึ้นไป พอหมดก็มาระดมฉีดคนที่อายุ 80 ปีขึ้นไป  70 ปีขึ้นไป ลงมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันไล่ฉีดจนมาถึงคนหนุ่มสาวแล้ว ผลก็คือ แม้อังกฤษยังมีการระบาดพอสมควร พบการติดเชื้อราววันละ 27,000 คน แต่เสียชีวิตเพียงวันละ 20 คน ทั้งนี้เพราะผู้สูงอายุของอังกฤษได้ฉีดวัคซีน 80-90% แล้ว

ประเทศไทยก็ควรทำเช่นนี้ วัคซีน 10 ล้านโดสที่มีแม้จะไม่มาก แต่ก็ไม่น้อยหากใช้อย่างมียุทธศาสตร์ ผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) ทั่วไทยมี 12 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนวัคซีนที่ไทยมีในเดือนกรกฎาคมนี้ 

หากตั้งเป้าหมายว่า ในทุกจังหวัดผู้สูงอายุต้องได้รับวัคซีนเข็มแรกไม่น้อยกว่า 50% ก็ใช้วัคซีนเพียง 6 ล้านโดส  และในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ระบาดหนักเช่น กทม. ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้  อาจตั้งเป้าเพิ่มให้เป็น 70% ในเดือนกรกฎาคม (ย้ำว่าในเดือนกรกฎาคม)

สำหรับ กทม.พื้นที่ระบาดหนัก มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.6 ล้านคน ได้รับวัคซีนไปแล้ว 3.5 แสนคน เหลืออีก 1.25 ล้านคนที่ยังไม่ได้วัคซีน หากตั้งเป้าหมายฉีดผู้สูงอายุใน กทม.สัก 1 ล้านคนในเดือนกรกฎาคม ก็ย่อมจะไม่ยาก

ชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเสนอว่า เดือนกรกฎาคม คือเดือนที่มีความหมายในการลดการตายจากโรคโควิด ด้วยการระดมฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปให้มากที่สุด ให้ได้ 70% เป็นอย่างน้อย  ผู้สูงอายุทุกคนไม่ควรต้องรอคิวหมอพร้อมในเดือนถัดๆ ไปอีกแล้ว รัฐบาลต้องเปิดช่องทางด่วนให้ผู้สูงอายุทุกคนที่ประสงค์ฉีดวัคซีน ต้องได้ฉีดวัคซีนในเดือนกรกฎาคม นี่คือยุทธศาสตร์สำคัญหนทางเดียว ที่เราจะลดอัตราการตายให้ลดลงครึ่งหนึ่ง ให้จงได้

เราหยุดการระบาดของโควิดไม่อยู่แล้ว  แต่เรายังสามารถลดการตายจากโรคโควิดลงได้  เดือนกรกฎาคมนี้ รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์ “กรกฎาคม เร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุทั่วไทยให้ได้ 70%” โดยไม่รอช้า