แพทย์เผยภูมิคุ้มกันซิโนแวคลดวูบใน 3 เดือน แนะให้ตามด้วยบูสเตอร์ข้ามชนิด

06 ก.ค. 2564 | 09:08 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2564 | 16:27 น.

“หมออุดม” ที่ปรึกษาศบค. เผยภูมิคุ้มกันของวัคซีนซิโนแวค ลดลงครึ่งหนึ่งหลังฉีดภายในช่วง 3-4 เดือน ไม่ได้หมายความวัคซีนไม่ดี แต่เป็นเพราะไวรัสกลายพันธุ์ทำให้ภูมิลด แนะใช้บูสเตอร์โดสข้ามชนิดกัน

นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงข่าววันนี้ (6 ก.ค.) ประเด็นการฉีด วัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า คณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของศบค.ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับวัคซีนโควิด เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการสรุปผลรายงานต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายกฯ อยากให้มาแถลงทำความเข้าใจกับประชาชน

 

นพ.อุดมกล่าวว่า จากข้อมูลการใช้วัคซีนของอังกฤษพบว่า วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม เมื่อเจอสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 7.5 เท่า เจอสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ลดลง 2.5 เท่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เจอเบตาภูมิลดลง 9 เท่า เจอเดลตาภูมิลดลง 4.3 เท่า สำหรับซิโนแวคมีข้อมูลของไทยฉีด 2 เข็ม เจอเดลตาภูมิลดลง 4.9 เท่า

นพ.อุดม คชินทร

“ไวรัสมีการกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ เป็นการปรับตัวเพื่ออยู่รอดเหมือนมนุษย์ ยิ่งระบาดเยอะก็ยิ่งกลายพันธุ์ได้เยอะ ที่สำคัญคือกลายพันธุ์แล้วดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ซึ่งวัคซีนทำจากสายพันธุ์ดั้งเดิมคือ ไวรัสโควิดอู่ฮั่น เมื่อมีสายพันธุ์อัลฟา , เดลตา ประสิทธิภาพประสิทธิผลวัคซีนจึงลดลง ไม่ใช่วัคซีนไม่ดี แต่เพราะเชื้อกลายพันธุ์ไป จึงต้องหาวัคซีนรุ่นใหม่หรือเจนใหม่ที่จะมาครอบคลุมตัวกลายพันธุ์อัลฟา และเดลตา ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี” นพ.อุดมกล่าว และว่า วัคซีนทุกตัวกำลังพัฒนา คาดว่าเร็วสุดอาจออกมาปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องคำนึงเวลาสั่งซื้อวัคซีนด้วย เพราะฉะนั้นระหว่างที่รอต้องหากระบวนการคือ การให้บูสเตอร์โดส (หรือการฉีดวัคซีนเข็มที่สาม) เพื่อให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากและต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์

ทั้งนี้ ยอมรับกันว่า วัคซีน mRNA กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงสุด ภูมิคุ้มกันขึ้นระดับพันถึงหมื่นยูนิต รองลงมาคือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนประเภทไวรัลเวคเตอร์ ภูมิขึ้นหลักพันต้นๆ ตามด้วยซิโนแวคเป็นชนิดเชื้อตายภูมิขึ้นประมาณหลักร้อยปลายๆ

 

ดังนั้น เรื่องการป้องกันโรคต่อสายพันธุ์เดลตาพบว่า วัคซีนไฟเซอร์ลดลงจาก 93% เหลือ 88% , แอสตร้าเซนเนก้า ลดลงจาก 66% เหลือ 60% แต่การป้องกันการอยู่รพ. หรือเจ็บป่วยรุนแรง ไฟเซอร์ยังอยู่ที่ 96% และแอสตร้าเซนเนก้า 92% ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ ส่วนซิโนแวคข้อมูลมีน้อย เราไม่มีข้อมูลป้องกันได้เท่าไร แต่ถ้าเทียบจากระดับภูมิต้านทานที่ขึ้น คงป้องกันสายพันธุ์เดลตาไม่ดีแน่ ๆ อย่างไรก็ตาม ซิโนแวค 2 เข็ม ยังป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงเข้า รพ. และป้องกันการตายได้มากกว่า 90%

 

ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า วัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีนไม่มีทางป้องกันได้ 100% อย่างสหรัฐอเมริกาที่รัฐแมสซาชูเซสต์ เก็บข้อมูล 3.7 ล้านคน ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม ยังเกิดติดเชื้อโควิดใหม่ 0.1% หรืออินเดีย 10 กว่าล้านคน ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม ยังติดโควิดใหม่ 0.2% แต่วัคซีนยังป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงเข้า รพ. และป้องกันการตายได้ในระดับสูงมากเกิน 90% ซึ่งถือว่าสูงมาก เราจึงต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรงเข้า รพ.เป็นผู้ป่วยหนัก ถือว่าคุ้มค่าแล้ว และยังช่วยปกป้องระบบสุขภาพ กำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งกำลังไม่ไหว เตียงตึงมาก ทั้งเขียวเหลืองแดง นี่คือประโยชน์ที่ได้เห็นของการฉีดวัคซีน” นพ.อุดมกล่าว

 

นอกจากนี้ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนจะตกลงในช่วง 3-6 เดือน โดยแอสตร้าเซนเนก้าลดลงช่วง 6 เดือน ต้องฉีดกระตุ้น จึงไม่อยากให้รีบไปจองวัคซีน mRNA กัน เพราะดูจากช่วงเวลาแล้วจะได้วัคซีนรุ่นเก่า จึงอยากให้รอวัคซีนรุ่นใหม่ที่ครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่ ๆและปลอดภัยกว่า

 

“ส่วนซิโนแวคฉีด 2 เข็ม ภูมิลดลงครึ่งหนึ่งใน 3-4 เดือน ต้องการบูสเตอร์โดสแน่นอน แต่ไม่อยากเรียกว่าเป็นเข็ม 3 เพราะยังไม่มีไกด์ไลน์ (คำแนะนำเป็นแนวทาง)จากองค์การอนามัยโลกหรือประเทศใดก็ตาม มีเพียง 2 ประเทศที่มีการฉีดเข็ม 3 คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และบาห์เรน ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และฉีดเข็ม 3 เป็นซิโนฟาร์ม เพราะหาวัคซีนตัวอื่นไม่ได้ สำหรับประเทศไทย เรากำลังศึกษาคาดว่าอีก 1 เดือนจะรู้ผล”

 

“การประชุมเมื่อวานนี้ (5 ก.ค.) มีข้อเสนอการฉีดบูสเตอร์โดสให้บุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนกว่าคนเป็นลำดับแรก เพราะกลุ่มนี้มีจำนวนหนึ่งได้รับซิโนแวค 2 เข็มจะครบ 3-4 เดือนแล้ว จึงต้องได้รับก่อน ต่อด้วยคนที่มีความเสี่ยง คือ กลุ่มโรคต่างๆ เบาหวาน ความดัน อ้วน มะเร็ง ผู้ได้รับยากดภูมิ คีโม เป็นต้น ส่วนคนทั่วไปขอให้ฉีดให้ครบ 2 เข็มก่อน ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ฉีดชนิดเดียวกันใน 2 เข็มก่อน อย่าไปดาวน์เกรดซิโนแวค แม้การป้องกันจะน้อย แต่ลดเจ็บป่วยรุนแรงไม่ต่างแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ และจะมีบูสเตอร์โดสตามมาอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ให้รอคำแนะนำจากสธ. ซึ่งเราจะประชุมตลอด กำหนดตรงนี้มาให้ประชาชนได้ทราบ” นพ.อุดมกล่าวในที่สุด