วันพรุ่งนี้(9ก.ค.64) ต้องจับตาการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมีรายงานข่าวระบุว่า จะมีการเสนอให้ "ประกาศเคอร์ฟิว" และ "มาตรการล็อกดาวน์" เป็นเวลา 14 วัน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม 2564 ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม 7,058 ราย
มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,990 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 68 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 279,367 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 75 ราย หายป่วยเพิ่ม 4,978 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 208,723 ราย
รายงานข่าวเปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในการประชุมศบค.ชุดใหญ่วันพรุ่งนี้ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศบค. เป็นประธาน
ซึ่งปรับกำหนดการประชุมจากเดิมจะประชุมวันที่ 12 ก.ค. ให้เร็วขึ้น เนื่องจากพบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดมากกว่า 7 พันราย และแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงนัดประชุมศบค.ให้เร็วขึ้นเพื่อกำหนดมาตรการยกระดับอย่างเร่งด่วน
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ใน 2 ข้อเสนอหลักๆที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะเสนอต่อที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่คือ
1. มาตรการล็อกดาวน์ ในการประกอบกิจการและใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ระบาดรุนแรง เพิ่มมาตรการมากขึ้น
และ 2. เสนอให้มีการ "ประกาศเคอร์ฟิว" หรือประกาศห้ามประชาชนออกจากบ้านหรือเคหะสถานในช่วงเวลาที่กำหนด" เบื้องต้นเสนอมีข้อเสนอให้ประกาศเคอร์ฟิว ช่วงเวลาระหว่าง 21.00 น. ถึง เวลา 04.00 น. แต่ทั้งนี้จะต้องรอเสนอในที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่พิจารณาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ วันที่ 8 ก.ค. 64 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึง 5 มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ โดยหนึ่งในนั้นคือ
"กระทรวงสาธารณสุข เสนอศบค. ให้มีการจำกัดการเดินทาง ไม่ออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น ให้ออกมาซื้ออาหารได้ ฉีดวัคซีนได้ และปิดสถานที่ที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ตลาดเปิดได้ ตอนนี้กำลังรอศบค.พิจารณา เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถดูแลพี่น้องได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป"
อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้ง 5 ดังกล่าว จะเสนอให้บังคับใช้ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน เป็นระยะเวลา 14 วัน แต่จะเริ่มเมื่อใดต้องรอให้ ศบค. เป็นผู้ประกาศอย่างเป็นทางการ
ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังถึงประกาศเคอร์ฟิว หรือ ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน ศบค.เคยประกาศมาแล้ว 1 ครั้งในช่วงของการระบาดระลอกแรก ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2563 จากนั้นเมื่อสถานการณ์อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ศบค.ก็]ระดับมาตรการ ลดเวลาประกาศเคอร์ฟิว จน ยกเลิกประกาศเคอร์ฟิวดังกล่าวในที่สุด
โดยประกาศเคอร์ฟิวฉบับ ดังกล่าว ระบุในข้อ 1 ของ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 2) ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 2 เมษายน 2563 โดยเนื้อหาระบุประกาศเคอร์ฟิวฉบับดังกล่าวระบุว่า
"ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 04.00น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็นหรือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก การขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ
หรือการเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยาน โดยมีเอกสารรับรองความจำเป็นหรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้าหรือการเดินทาง และมีมาตรการป้องกันโรคตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) หรือ
เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ ของทางราชการ หรือมีเหตุจำเป็นอื่นๆโดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
สำหรับประกาศเคอร์ฟิวฉบับดังกล่าว กำหนดโทษว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนข้อนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 2)