ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
โควิด-19 วัคซีน การให้วัคซีนลูกผสม จีนผสมฝรั่ง การศึกษาวิจัยที่ศูนย์ทำอยู่ ปรับรูปแบบเพื่อให้เหมาะกับทรัพยากรที่เรามีอยู่ และวัคซีนที่เรามีจะเห็นว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติจะมีภูมิต้านทานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60 หน่วย
การให้วัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็มภูมิต้านทานจะขึ้นมาอยู่ระดับเฉลี่ย 100 หน่วย ถ้าให้วัคซีนไวรัส Vector AZ 2 เข็มห่างกัน 10 สัปดาห์ภูมิต้านทานจะขึ้นมาอยู่ที่ 900 หน่วย แต่ถ้าให้วัคซีนสลับกัน โดยให้วัคซีนเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัสเวกเตอร์ที่ 3-4 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะสูงที่ 700 หน่วย
ในขณะที่ให้วัคซีน mRNA 2 ครั้งห่างกัน 3 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะขึ้นมาสูงถึงพัน 1700 หน่วย
แต่การให้วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ตามด้วยวัคซีน virus Vector อย่างที่ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ด้านหน้าทำอยู่ พบว่าภูมิต้านทานเฉลี่ยสูงขึ้นมา เฉลี่ยเป็น 10,000 หน่วย
การวัดนี้เป็นระดับภูมิต้านทาน ขณะนี้กำลังทำการวิจัยแนวลึก ถึงความสามารถในการขัดขวางไวรัส ในแต่ละสายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์เดลตาด้วย จากข้อมูลที่ผ่านมา สายพันธุ์เดลต้าหลบหลีกระบบภูมิต้านทานจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงเพิ่มขึ้น จนกว่าจะมีวัคซีนที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด หรือวัคซีนใน Generation ที่ 2
ทางศูนย์ มุ่งมั่นในการทำการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับคนไทย เป็นงานวิชาการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง และนโยบายใดๆทั้งสิ้น
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 28 ก.พ.-22 ก.ค. 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 15,388,939 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 11,805,180 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,583,759 ราย