นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้เดินหน้ามาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกระตุ้นเศรษฐกิจและทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว “โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ซึ่งตอนนี้เปิดได้เกือบหนึ่งเดือนแล้ว มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมที่เดินทางเข้ามาเกือบหนึ่งหมื่นคน
โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 อันดับแรกที่เข้ามา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, อิสราเอล, เยอรมนี และ ฝรั่งเศส อัตราเฉลี่ยการเข้าพักต่อคนอยู่ที่ 11 คืน ประเมินค่าใช้จ่ายต่อทริปอยู่ที่ 70,000 บาท ได้แก่ค่าที่พัก ค่าตรวจ Swap ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าพาหนะเดินทางในจังหวัด ค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เฉลี่ยการใช้จ่ายอยู่ที่ 5,500 ต่อคนต่อวัน ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนอยู่ที่ 534.31 ล้านบาท
“นักท่องเที่ยวมีความประทับใจในอัธยาศัยไมตรีของชาวภูเก็ต และวางแผนเดินทางไปยังจังหวัดอื่น เช่น เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ต่อไป นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับไปแล้วยังได้วางแผนพาครอบครัวกลับมาเที่ยวไทยซ้ำอีกด้วย ซึ่งจากการประเมินความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวพบว่า พอใจคุณภาพของรถบริการรับ-ส่ง SHAพลัส ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต มากที่สุด รองลงมาคือ พอใจภาพรวมการให้บริการ ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต และพอใจการตรวจคัดกรองเมื่อเดินทางมาถึง ซึ่งการเปิดประเทศครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมตัวในการรองรับช่วงปลายปีที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอีก ทำให้เห็นว่าการเปิดประเทศครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปส่วนหนึ่งแล้ว”
นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงประโยชน์สูงสุดของพื้นที่ที่เปิดไปแล้ว อย่าง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และ สมุยพลัสโมเดล ให้ได้ใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดประชุม การจัดแสดงสินค้า เป็นต้น
แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้ทั้งจังหวัดภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี ได้เพิ่มมาตรการการคัดกรองนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างเคร่งครัด นายกฯ ได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำชับเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ที่ด่านหรือจุดตรวจอย่างเข้มงวดแล้ว เพื่อที่ประชาชนชนในพื้นที่จะได้มีรายได้อย่างต่อเนื่องจากการเปิดประเทศในครั้งนี้
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ปรับปรุงระบบลงทะเบียน COE ออนไลน์ใหม่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาให้มีความสะดวก และ ททท. ในต่างประเทศยังได้ทำการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเจาะไปที่กลุ่มตลาดยุโรป เช่น ดูไบ แฟรงก์เฟิร์ต ลอนดอน กรุงปราก สตอกโฮล์ม และปารีส อีกด้วย โดยคาดว่า ต่อไปนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วง High Season ของฤดูกาลการท่องเที่ยว
โฆษก ศบศ. กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนต่อไป คือ การเดินหน้าเปิด 3 เกาะของจังหวัดกระบี่ ได้แก่ เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล และ 3 เกาะของจังหวัดพังงา ได้แก่ เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ มีกำหนดเปิดในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 นี้
ได้เน้นย้ำถึงแผน 7+7 ของการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องที่เปิดไปแล้ว เป็นการผ่อนคลายมาตรการให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาใน “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” อยู่ครบ 7 วัน (เดิม 14 วัน) และตรวจ RT-PCR จำนวน 2 ครั้งแล้ว สามารถเดินทางไปในพื้นที่เกาะสมุย พะงัน และเกาะเต่า (สุราษฎร์ธานี) รวมถึงเกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ (กระบี่) และเกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย และเขาหลัก (พังงา) ในรูปแบบซีลรูท (sealed routes) หรือ island hopping ได้ตั้งแต่วันที่ 8 เป็นต้นไป
ททท.ยังคงเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวรวมปีนี้ที่ 8.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากตลาดต่างประเทศ 3 แสนล้านบาทในจำนวนนักท่องเที่ยวราว 3 ล้านคน และรายได้จากตลาดภายในประเทศ 5.5 แสนล้านบาท