หลัง ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อ้างถึงเฟซบุ๊ก สถานีตำรวจภูธรบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ โพสต์เนื้อหาระบุ ว่าตำรวจบุรีรัมย์ 11 นาย ได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ไปแล้ว ก่อนที่จะลบโพสต์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3
ทั้งที่ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดในระยะแรก ให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ผู้สูงวัย ก่อน และ ให้กับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ในลำดับถัดไป
เกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมตำรวจสภ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จึงได้รับการฉีดวัคซีนซึ่ง เป็น “บูสเตอร์” ก่อนบุคลากรทางการแพทย์ฯ ซึ่งยังฉีดได้ไม่ครบถ้วน
ทาง พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภาค 3) จึงได้ออกมาระบุว่า การฉีด "แอสตร้าเซนเนก้า" เข็มที่ 3 ของตำรวจสภ.บ้านใหม่ญ ได้รับการอนุเคราะห์จากสาธารณสุข(สสจ.) บุรีรัมย์ เนื่องจาก สสจ.บุรีรัมย์ เป็นหน่วยงานประสานรับมาจากกระทรวงสาธารณสุข ก่อนปันส่วนมาให้เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ด่านหน้ารับผู้ป่วยโควิดจากกรุงเทพฯ กลับมารักษาในภูมิลำเนา อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ ผกก.ชี้แจงด่วน เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด
พล.ต.ท.ภานุรัตน์ กล่าวว่า ในการบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแต่ละพื้นที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ไม่มีอำนาจในการประสานขอรับการจัดสรรวัคซีน แต่เป็นอำนาจของ สสจ.ในคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัดนั้นๆ
ขณะเดียวกัน สตช.สั่งการให้ทุกโรงพัก จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น พาหนะ และชุด PPE ไว้รองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากกรุงเทพฯ ที่ต้องการเดินทางกลับไปรักษาตัวในจังหวัดภูมิลำเนาตัวเอง ในกรณีสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรง จนเตียงภาคสนาม หรือรถตู้ของระบบสาธารณสุขไม่เพียงพอ ก็จะได้ใช้รถตู้ รถห้องขังของโรงพัก เสริมกำลังขับไปรับ – ส่งตามนโยบายของรัฐบาล
"สภ.บ้านใหม่ได้เตรียมการให้ตำรวจ 11 นาย ซึ่งอยู่ระหว่างการอบรมจากบุคลากรทางการแพทย์ ในขั้นตอนการปฏิบัติงานที่จะสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานทั้ง 11 รายรับเชื้อโควิด-19 การทำหน้าที่เป็นด่านหน้าของตำรวจ 11 นาย มีความสุ่มเสี่ยง จึงจัดสรรให้ได้รับการฉีดวัคซีน" ผบช.ภาค 3 ระบุ
ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ตั้ง กก.สอบ
ด้านนายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ได้มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว เพื่อพิจารณาความชัดเจนว่าเป็นการขัดคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีมติให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเท่านั้น หรือไม่
สสจ.บุรีรัมย์แจงฉีดตามนโยบาย
เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ชี้แจงว่า จากการที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิดมากขึ้น รัฐบาลมีนโยบายในการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์และบริการด่านหน้า เพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มีศักยภาพในการป้องกันการแพร่ ระบาดของโรคมากขึ้น ตามมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกอบกับ มีข้อสั่งการของกระทรวง สาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2564 ที่ให้มีการฉีดวัคซีนกระตุ้น เข็มที่ 3 แก่บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข
จึงเป็นเหตุให้สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ และโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง จัดเตรียมวัคซีน จํานวน 7,964 โดส เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้ให้บริการด้านหน้า และได้ดําเนินการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กับ บุคลากรทางการแพทย์และบริการด้านหน้าแล้ว จํานวน 3,533 คน เพื่อเป็นการสร้างขวัญกําลังใจ และความปลอดภัยแก่บุคลากรการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้าตามนโยบายดังกล่าว
ทั้งนี้ มีการชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากตำรวจบางส่วน ยังมีทหารที่ ทำงานด่านหน้าได้รับวัคซีนเช่นกัน
ตร.แจงทำไมได้ฉีดเข็ม 3
ขณะที่เพจสถานีตำรวจภูธรบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้โพตส์ภาพตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ในชุด PEE พร้อมชี้แจงว่า
เรียน ทุกท่านทราบ เนื่องจาก เจ้าหน้าตำรวจทั้ง 11 นาย ได้รับคำสั่งให้มีหน้าที่รับส่งผู้ป่วยโควิค กลับมารักษาตัวที่บ้านเกิด ชึ่งอาจจะต้องเสี่ยงสัมผัสกับผู้ป่วยโควิค ในการรับส่ง ชึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง จึงได้รับวัคชีนอีกเพื่อเป็นเกราะคุ้มกันครับ จึงเรียนมาเพื่อทราบ
สำหรับจังหวัดบุรีรัมย์ ตามทะเบียนราษฎร์ เป็นที่อยู่ ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข รวมถึงเป็นบ้านเกิดของ นายเนวิน ชิดชอบ ถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตการได้รับจัดสรรวัคซีนโควิด-18 เป็นอันดับต้นๆ มาก้อหน้า ล่าสุดอยู่ในระดับที่สูงเทียบเท่าจังหวัดท่องเที่ยว และสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ นั่นคือ ยอดและอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 17%
ขณะที่ยอดฉีดวัคซีนประเทศไทย ณ วันที่ 24 ก.ค.2564 ยอดรวมทั้งสิ้น 15,741,818 โดส
+นิยามผู้ให้บริการด่านหน้า
สำหรับมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 มีข้อสั่งการของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2564 ที่ให้มีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 แก่บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข
ขณะที่หนังสือชี้แจงของ สสจ.บุรีรัมย์ ได้ระบุถึงการจัดวัคซีนให้บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข รวมไปถึง “ผู้ให้บริการด่านหน้า” ดังนี้
“...สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์และโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง จัดเตรียมวัคซีนจำนวน 7,964 โดส เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ให้บริการด่านหน้า และได้ดำเนินการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และบริการด่านหน้าแล้ว จำนวน 3,533 คน เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและความปลอดภัยแก่บุคลากรการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้า ตามนโยบาย...”
ทั้งนี้ “ผู้ให้บริการด่านหน้า” ในหนังสือดังกล่าว ไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่า เฉพาะในส่วนของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือ รวมถึงอาชีพอื่นๆ ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ต้องให้บริการด่านหน้า เจ้าหน้าที่กู้ภัย อาสาสมัครกู้ภัย เป็นต้น