วิกฤติซํ้า! บินไทยซื้อแอร์บัส 340 จอดทิ้งอู่ตะเภาเจ๊ง 1.4 หมื่นล้าน

25 ม.ค. 2560 | 07:50 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2560 | 15:53 น.
วันที่ 25 ม.ค.60 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริงกรุ๊ป ระบุว่า "ฉาวกระฉ่อนไปทั่วโลก งามหน้าบรรษัทภิบาลแห่งชาติไทย กรณีถูกแฉสินบนข้ามชาติ 1,300 ล้านบาท ที่ “โรลส์-รอยซ์” จ่ายให้นายหน้าจัดซื้อเครื่องยนต์ให้กับการบินไทย ผงะ! คำฟ้องเอสเอฟโอระบุชัด" 

1.การบินไทย
3 สัญญาฟันกำไรมากกว่า 118 ล้านปอนด์ หรือราว 7,000 ล้านบาท

เรื่องฉาวโฉ่ข้ามชาติของ การบินไทยยังไม่ได้จบ แค่เพียงเท่านี้ ยังมีซากเครื่องบิน แอร์บัส เอ 340-500 จำนวน 3 ลำ ที่จอดนิ่งสนิท อยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา ประจานความล้มเหลวและไม่โปร่งใสของการบริหารจัดการในอดีตที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะปลดระวาง โดยกองทัพอากาศ ช่วยซื้อไปแล้ว 1 ลำ จากทั้งหมด 4 ลำ แต่อีก 3 ลำนั้น ยังไม่มีท่าทีว่าจะขายได้

ต้นเหตุมาจากการวางแผนที่ผิดพลาดซื้อเครื่องบินพิสัยไกล และใช้เชื้อเพลิงมาก เพื่อมาให้บริการในเส้นทางบินตรง (นอนสต็อป) กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก จะด้วยตั้งใจหรือรู้อยู่แก่ใจ แต่หลังจากเปิดบริการได้เพียง 3 ปี ตัวเลขการขาดทุนเส้นทางนี้ก็ทะลุไปถึง 7,000 ล้านบาท กระทั่งบอร์ดต้องยกเลิก เส้นทางบินดังกล่าวไปเมื่อปี 2551  ตอกยํ้าถึงขบวนการคอร์รัปชันครั้งใหญ่ ในสายการบินแห่งชาติ และกลายเป็นต้นทุนระยะยาวในการบริหารจัดการและเป็นสาเหตุหลักทำให้การบินไทยขาดทุนจนโงหัวไม่ขึ้นอย่างทุกวันนี้

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจ่ายค่านายหน้าเพื่อผลักดันให้การบินไทยซื้อเครื่องยนต์เทรนท์ 500 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส เอ 340-500 จำนวน 4 ลำ และแอร์บัสเอ 340-600 จำนวน 6 ลำ ในช่วงรัฐบาลไทยรักไทยทักษิณ 1 เมื่อปี 2546 ซึ่งอยู่ในแผนจัดหาเครื่องบินปี 2545-2547 จำนวน 39 ลำ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้เครื่องบินแอร์บัสเอ 340-500 ซึ่งเป็นการสั่งซื้อเครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ สำหรับทำการบินข้ามทวีปแบบไม่ต้องแวะพัก (Ultra Long Range) ระยะเวลาบิน 18 ชั่วโมง เพื่อมาทำการบินตรงในเส้นทางกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2548 และทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-ลอสแองเจลีส เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมปีเดียวกัน

2.การบินไทย

ทำแผนบินตามออร์เดอร์ 

“การสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ ถือเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญ ที่เกิดขึ้นจากการเขียนแผนตามใบสั่งออร์เดอร์เครื่องบินจากฝ่ายการเมือง ทำให้การบินไทยต้องประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนักจนทนแบกรับภาระการขาดทุนไม่ไหวต้องหยุดบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 แล้วนำเครื่องบินรุ่นนี้ ไปบินตรงในเส้นทางกรุงเทพฯ-ลอสเองเจลีสแทน”

แต่หลังจากเปิดบริการได้ไม่นานก็ต้องหยุดบินตรงกรุงเทพฯ-ลอสแองเจลีส ในวันที่ 29 เมษายน 2555 และเปลี่ยนมาใช้เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ER แทน โดยปรับเส้นทางบินใหม่เป็นกรุงเทพฯ-โซล-ลอสแองเจลีส เช่นเดียวกับการใช้แอร์บัสเอ 340-500 บินในเส้นทางกรุงเทพฯ-โตเกียว (ฮาเนดะ) ก็ได้ถูกเปลี่ยนไปใช้โบอิ้ง 777-300 ER แทน

3.การบินไทย

ขายตั๋วทะลุ120%ถึงคุ้มทุน

ทั้งนี้สาเหตุการขาดทุนเป็นเพราะเครื่องบินรุ่นนี้ ใช้เครื่องยนต์เทรนท์ 4 เครื่องยนต์ทำให้กินนํ้ามันมาก ประกอบกับในช่วงปี 2548 ราคานํ้ามันสูงเกือบ 5 เท่า มีเพียง 215 ที่นั่ง แม้จะขายเต็มลำก็ยังขาดทุน ต้องขายให้ได้ถึง 120% จึงจะคุ้มทุน ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ร่วม 3 ปีผลประกอบการเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ขาดทุนกว่า 7,000 ล้านบาท กระทั่งบอร์ดมีมติให้ยกเลิกเส้นทางบินดังกล่าวและประกาศขายเครื่องบินดังกล่าวทิ้งแบบขาดทุนแต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถขายเครื่องบินรุ่นเอ 340-500 และเอ 340-600 ได้ โดยมีอายุการใช้งานกว่า 11 ปี

ส่งผลให้การบินไทยต้องทยอยรับรู้ผลการขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินทุกปี จนปี 2558 เครื่องบิน เอ 340-600 จำนวน 6 ลำ ได้ทำด้อยค่าในวงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท และงวด 9 เดือนแรกของปี 2559 มีการทำอีกกว่าพันล้าน ปัจจุบันฝูงบินเอ 340 มีมูลค่าเหลือ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งจะลดขาดทุนของบริษัทและทำให้เครื่องบินขายได้ง่ายขึ้น

“แอร์บัสเอ 340 เปิดตัวครั้งแรกในปี 2545 มูลค่าลำละ 275 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การบินไทยก็ซื้อมา ในราคาเฉลี่ยราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อลำ ปี 2552 มูลค่าลดลงเหลือ 153 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯปัจจุบันมูลค่าของเครื่อง เอ 340 อยู่ที่ไม่ถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเครื่อง”
จอดรอขายซากที่อู่ตะเภา 

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า จนถึงวันนี้แอร์บัสเอ 340-500 และแอร์บัส เอ 340-600 ยังจอดรอคอยที่อยู่สนามบินอู่ตะเภา และจัดอยู่กลุ่มเครื่องบิน 20 ลำที่การบินไทยอยู่ระหว่างการเตรียมปลดระวาง โดยเครื่องบินรุ่นอื่นๆ ที่จอดอยู่เป็นบางรุ่นรอการส่งมอบ บางรุ่นรอเจรจา ยกเว้นแอร์บัส เอ 340 ที่ขายได้ยากมาก บางรายที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาซื้อก็กดราคาขายเหลือเพียง 7 แสนดอลลาร์สหรัฐฯต่อลำ บางรายให้ราคาไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อลำ ซึ่งตํ่ากว่าราคาบุ๊กแวลู ที่อยู่ที่ราว 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อลำ ถึงทุกวันนี้ยังไม่มีท่าทีจะขายได้

ขณะนี้เครื่องบิน เอ 340-500 เหลือรอขายอยู่ 3 ลำ หลังจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 การบินไทยได้ขายให้กับกองทัพอากาศในราคา 1,745 ล้านบาท 1 ลำ เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องบินวีไอพี สำหรับการให้บริการของผู้นำประเทศ และเครื่องบินเอ 340-500 ที่ขายไปนั้นมีมูลค่าอยู่ที่ราว 800 ล้านบาทส่วนที่เหลือกว่า 900 ล้านบาท เป็นการปรับเปลี่ยนเก้าอี้และซ่อมบำรุงใหญ่

4.การบินไทย
ชง 3 แนวทางโละ "เอ 340"

อย่างไรก็ดีจากที่เครื่องบิน เอ 340 มีแนวโน้มจะขายไม่ได้ ทำให้ทางฝ่ายบริหารและบอร์ดมีการหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว โดยแนวทางแรกคือการบินไทยยังคงต้องการขายเครื่องบินรุ่นนี้ออกไปจากฝูงบิน ล่าสุดได้รับการติดต่อจากบริษัทจากประเทศอิหร่าน ที่แสดงความสนใจซื้อเครื่องบินทั้ง 9 ลำที่เหลือ แต่ยังไม่ได้มีการเสนอราคาซื้อเข้ามา แนวทางที่ 2 การให้เช่า โดยก็มีบริษัทจากจีนแสดงความสนใจที่จะเช่า และแนวทางที่ 3 คือ มองที่การจะนำกลับมาบินใหม่

5.การบินไทย
บินใหม่ซ่อมอีก 2 พันล้าน

เนื่องจากขณะนี้ราคานํ้ามันปรับตัวลดลงอยู่ที่ราว 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จึงมีการศึกษาเส้นทางบินที่เหมาะสมหากการบินไทยจะนำแอร์บัส เอ 340 มาทำการบินใหม่ต้องมีการลงทุนอีกกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครื่องบินให้ใช้งานได้ แยกเป็น 2 ฝูงบินคือ แอร์บัส เอ 340-500 จำนวน 3 ลำ ลงทุนอีกราว 1,000 ล้านบาท และแอร์บัส เอ 340-600 จำนวน 6 ลำ ลงทุนอีกกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากต้องเปลี่ยนเก้าอี้ใหม่ รวมถึงซ่อมบำรุงให้กลับมาบินได้

สำหรับเหตุผลที่เลือกซื้อเครื่องบินแอร์บัส 340-500 กับ 340-600 เนื่องจากค่าคอมมิชชันในการจัดซื้อ 5% ขณะที่โบอิ้งจ่ายแค่ 3% จึงเป็นแรงจูงใจให้นายหน้าในการเลือก A340 จำนวน 10 ลำ มูลค่า 4.6 หมื่นล้าน โดยมีค่าคอมมิชชันในการจัดซื้อฝูงบินครั้งนี้ไม่ตํ่ากว่า 2 พันล้านบาท

6.การบินไทย

สุดท้ายการซื้อฝูงบินดังกล่าว กลายเป็นซากเครื่องที่ประจานความล้มเหลว จอดนิ่งอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภาตั้งแต่ปี 2551 นับถึงปัจจุบันค่าเสื่อมพุ่งไปแตะ 6.8 พันล้านบาท เมื่อรวมกับผลการขาดทุนจากการบินตรงเส้นทางกรุงเทพ-นิวยอร์ก 3 ปีแล้วเลิก 7 พันล้านบาท แล้วส่งผลให้ยอดความเสียหายร่วม 1.4 หมื่นล้านบาท

https://www.youtube.com/watch?v=skuc5VeYXq0


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริงกรุ๊ป ฉบับที่ 3230 วันที่ 26-28 ม.ค.2560