SME Transform เชื่อมเอสเอ็มอีสู่ 4.0! สร้างโอกาสพร้อมเปลี่ยนมุ่งสู่ตลาดสากล

27 พ.ค. 2561 | 01:46 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2561 | 18:18 น.
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย มีจำนวนกว่า 3 ล้านราย หรือประมาณ 99.7% ของจำนวนวิสาหกิจชุมชนทั้งหมด โดยก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งนับเป็นห่วงโซ่การผลิตและเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่แท้จริง โดยที่รัฐบาลเองก็พยายามผลักดันและสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง ผ่านทางมาตรการต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือที่มี

ล่าสุด กับการจัดงาน "SME Transform พร้อมเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล" ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพในการผนึกกำลังประชารัฐ จากทั้งหน่
วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ณ อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 18-20 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยภายในงานมีการออกบูธแสดงสินค้าจากเอสเอ็มอี สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย


444448160799



ดันไทยเป็นฮับสตาร์ตอัพอาเซียน
สำหรับวันเปิดงานมีการปาฐกถาพิเศษจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีวาทะเด็ดโดยการประกาศท้าชนประเทศสิงคโปร์ ขอขึ้นแท่นฮับสตาร์ตอัพอาเซียน โดยระบุว่า ขณะนี้ค่อนข้างมั่นใจในศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ซึ่งมองว่า ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะเป็นโอกาสของธุรกิจไทย แต่การขับเคลื่อนและพัฒนาจะต้องใช้ความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีข้อแม้ว่า ไทยอาจจะต้องก้าวหน้าไปมากกว่าในบางจุด ส่วนอะไรที่กีดขวางหรือเป็นอุปสรรค ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไข เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจดทะเบียน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน

"เราต้องการที่จะสร้างเศรษฐกิจบนฐานผู้ประกอบการ ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกัน วันนี้ทุกคนรู้ว่า เรากำลังเดินไปทางไหน แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 จะแตกต่างออกไป ตนต้องการให้ไทยแข่งขันกับสิงคโปร์ อะไรที่กีดขวางต้องแก้ เรามั่นใจศักยภาพของเรา ไม่มีอะไรที่เราด้อยกว่าชาติอื่น แต่ที่ผ่านมา กฎหมายเก่าแก่ ดังนั้น จะต้องร่วมกันแก้ไข ทั้งกระทรวงการคลัง, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์, สมาคมธนาคารไทย และกรมสรรพากร อะไรที่ติดขัด ต้องจัดการ และร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ผลักดันกลุ่มเอสเอ็มอี" นายสมคิด กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้ายกระดับเอสเอ็มอีไทยสู่ Smart Enterprise โดยเปลี่ยนจากทำมากได้น้อย เป็นทำน้อยได้มาก ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายดันจีดีพีเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 36% เป็นไม่น้อยกว่า 50% ภายในปี 2564 โดยจะเน้นให้เข้าถึงเงินทุนจากสถาบันการเงินมากขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินจะต้องปรับปรุงระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) กับหน่วยงานรัฐและเอกชนทั้งหมด เพื่อให้สามารถวิเคราะห์การให้เงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีมีอุปสรรคในการเติบโตลดลงได้


S__48160792



แนะเอสเอ็มอีต้อง Transform
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีจะต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และสร้างสิ่งใหม่ ๆ พร้อมทั้งเข้าถึงและเข้าใจเทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อให้เอสเอ็มอีก้าวสู่ยุค 4.0 สามารถดำเนินธุรกิจให้เกิดความแข็งแกร่งและเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน โดยสิ่งที่จำเป็นก็คือ จะต้องพัฒนาตัวเองให้เติบโตและสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ตั้งแต่ระดับชุมชน ฐานราก วิสาหกิจชุมชนต้องปรับเปลี่ยนและปฏิรูป หรือเรียกว่า ต้องทรานส์ฟอร์ม (Transform) ตัวเอง

"การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้สร้างโอกาสต่าง ๆ ไว้รองรับเอสเอ็มอีและรัฐวิสาหกิจฐานรากของประเทศในการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยการรวมพลังเครือข่ายประชารัฐในการขับเคลื่อนและยกระดับเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 รวมถึงเป็นเวทีให้เอสเอ็มอีได้สัมผัสและเรียนรู้ผลสำเร็จของนโยบายการส่งเสริมเอสเอ็มอี ตลอดจนการสร้างการรับรู้แนวทางและโอกาสการปรับเปลี่ยนธุรกิจ พร้อมนำเสนอกลไกการยกระดับเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม ทุกมิติ และทั่วประเทศ"


PAQ1653



เปิดโอกาสเข้าถึงลูกค้า
นายมหพันธุ์ ศุภศรี ผู้จัดการทั่วไปและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ภัทรภร โฮมเมด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์แปรรูปแบรนด์ 'Pattaraporn' กล่าวว่า การเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้เป็นการได้ประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะในแง่ของของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ร้านตนเองกับทางสื่อมวลชนและสาธารณชน อีกทั้งยังมีความภูมิใจที่ได้มาร่วมงาน เพราะเท่าที่ทราบทางกระทรวงจะคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการดีและมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งบริษัทก็ได้เป็นหนึ่งที่ได้รับการคัดเลือก

อย่างไรก็ดี หากถามว่าต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างไรนั้น ต้องเรียนว่าเดิมทีบริษัทเป็นเพียงผู้ประกอบการรายที่เล็กมาก มีผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายแบบพื้นฐานทั่วไป ยังไม่ได้มีการพัฒนา รวมถึงการมีมาตรฐานสินค้าและบรรจุภัณฑ์ โดยมีโอกาสได้รับการส่งเสริมจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เข้ามาช่วยพัฒนาเรื่องการดำเนินงานให้ได้ตรารับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) และมีมาตรฐานสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้ง GMP และฮาลาล เป็นต้น ขณะที่ ในส่วนของแพ็กเกจจิ้งก็มีการพัฒนาจากการเป็นบรรจุภัณฑ์แบบกระปุกใส ให้เปลี่ยนเป็นซองอะลูมิเนียมฟอยด์ ซึ่งจะช่วยทำให้อายุของผลิตภัณฑ์ยาวนานขึ้น เพื่อรองรับตลาดส่งออก

"การเข้าถึงแหล่งเงินบริษัทได้รับการสนับสนุนจากโครงการประชารัฐ เพื่อนำเม็ดเงินมาลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม สำหรับใช้เพื่อการส่งออก โดยหากถามว่า ขั้นตอนในการเข้าถึงแหล่งเงินควรจะมีการปรับปรุงอะไรหรือไม่ เพื่อให้เอื้อต่อเอสเอ็มอี ต้องเรียนว่า ควรมองทั้ง 2 มุม ทั้งในมุมของเราที่เป็นผู้ประกอบการและของสถาบันการเงิน ซึ่งหากเราเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อก็จะต้องมีความมั่นใจด้วยว่า ผู้กู้มีความสามารถในการชำระคืนหนี้ได้ นั่นหมายถึงว่าสินค้าหรือธุรกิจเราต้องมีศักยภาพในการที่จะเติบโตได้ หากมีเอกสารและหลักฐานยืนยันครบถ้วนเชื่อว่าก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าถึง"


S__48160808



แนะเอสเอ็มอีต้องพร้อมเปลี่ยน
นายสุทธิชัย โพธิ์สุขสิริกุล ผู้จัดการสายกิจกรรมองค์กร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) กล่าวว่า ในภาพรวมของการจัดงานตลอดทั้ง 3 วัน มีผู้ประกอบการเข้ามาขอสินเชื่อแล้วมากกว่า 300 ล้านบาท  โดยส่วนใหญ่ต้องการสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 (คนตัวเล็ก) ซึ่งมีการติดอัตราดอกเบี้ย 1% ระยะเวลา 7 ปี ปลอดเงินต้น 3 ปีแรก ซึ่งเอสเอ็มอีที่มาร่วมงานไม่เพียงแต่จะได้พบกับสถาบันการเงินโดยตรง แต่ยังจะได้พบกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยพัฒนาทางด้านอื่นให้กับเอสเอ็มอีควบคู่ไปด้วย

"การจัดงานครั้งนี้ถือว่าเป็นงานที่ตรงกับเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง โดยที่ภายในงานไม่ได้มีเพียงสินเชื่อ แต่ยังมีการยกระดับเทคโนโลยี รวมถึงกิจกรรมการให้ความรู้ และกรณีศึกษาจากผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งความต้องการของเอสเอ็มอีที่เข้ามา ส่วนใหญ่จะต้องการเงินทุนที่มีต้นทุนไม่สูงมาก เพื่อที่จะนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจเพื่อปรับปรุงกิจการ นอกจากนี้ ยังต้องการยกระดับโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี 4.0 จากเดิมที่การค้าขายจะเป็นระบบออฟไลน์ แต่ปัจจุบันระบบออนไลน์ได้เข้ามามีส่วนในการทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก ซึ่งในงานนี้สามารถตอบโจทย์เอสเอ็มอีได้ทั้งหมด"

อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคของเอสเอ็มอี ก็คือ ความไม่พร้อมที่จะเปลี่ยน หรือปรับ แต่พอมางานนี้ทุกรายที่ได้พูดคุยมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนและก้าวเดินไปข้างหน้า เพราะการอยู่กับที่ เป็นการทำให้ธุรกิจไม่ได้เดินหน้า เนื่องจากคู่แข่งมีเพิ่มขึ้นได้ตลอด  โดยงานนี้จะเป็นการจุดประกาย และเป็นการยกระดับขีดความสามารถของเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง

……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ก.อุตฯเร่งอุ้มSMEsที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาน้ำมันและพลังงาน
'อาลีบาบา' ประเดิม! เปิดสอนคอร์สแรกงาน "SME Transform"


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว