วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ว่า ทำไมคนอ้วนถึงมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักและเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19
โรคอ้วนส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ไขมันภายในช่องท้องดันกล้ามเนื้อกระบังลมขึ้นไปในทรวงอกมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมทำงานได้ไม่เต็มที่
ไขมันที่ทรวงอกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นทำให้กล้ามเนื้อต้องออกแรงมากขึ้นเพื่อให้ทรวงอกขยายตัว แรงต้านมากขึ้นทำให้ปริมาตรของอากาศเข้าปอดน้อยลง หลอดลมอาจปิด ถุงลมของปอดส่วนล่างอาจแฟบ ทำให้การแลกเปลี่ยนของก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ส่งผลให้หายใจถี่ขึ้น เกิดภาวะออกซิเจนต่ำโดยเฉพาะเวลานอนหงาย
บอกภาวะอ้วนโดยใช้ดัชนีมวลกายหรือ Body Mass Index (BMI) คำนวณจากน้ำหนักตัว(กิโลกรัม)และความสูง(เมตร)โดยใช้สูตร
BMI = น้ำหนัก(กิโลกรัม)/ ความสูง(เมตรยกกำลัง 2)
แบ่งระดับความอ้วนเป็นระดับต่างๆดังนี้
BMI 18.5-24.9 kg/m2 ปกติ
BMI 25.0- 29.9 kg/m2 ภาวะน้ำหนักตัวเกิน
BMI > 30 kg/m2 อ้วน
คนอ้วนมีภูมิคุ้มกันลดลง มีการอักเสบเรื้อรังเพิ่มขึ้น มีโอกาสลิ่มเลือดอุดตันตามอวัยวะต่างๆมากขึ้น
เมื่อคนอ้วนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เชื้อไวรัสจะแบ่งตัวในทางเดินหายใจมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ เกิดการอักเสบของปอดมากขึ้น ส่งผลให้มีการทำลายของเนื้อปอดมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ เนื่องจากความจุของปอดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจเข้าและออกของคนอ้วนลดลง ประกอบกับคนอ้วนเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดบ่อยขึ้น ทำให้ระบบหายใจของคนอ้วนล้มเหลวเร็วขึ้น ใส่เครื่องช่วยหายใจ มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ คนที่น้ำหนักตัวเกินก็มีความเสี่ยงแต่น้อยกว่าคนอ้วน (ดูรูป)
ช่วงนี้คนอ้วน และคนที่น้ำหนักตัวเกินต้องพยายามลดน้ำหนักด้วยการกินอาหารให้น้อยลง ออกกำลังกายกลางแจ้ง อย่าเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน สวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ อย่าเข้าไปในสถานที่ปิด คนอยู่กันเยอะๆ อากาศถ่ายเทไม่ดี รีบจองคิว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยด่วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มวันนี้ ลงทะเบียนออนไลน์ฉีดวัคซีนโควิด กลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ
มาทำความรู้จัก “ซิโนฟาร์ม” ที่ขึ้นแท่นวัคซีนจีนตัวแรกที่ได้รับอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินจาก WHO
ยังวิกฤต ยอดโควิดวันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 1,919 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 31 คน