จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ปะทุขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2561 ส่งผลให้สองมหาอำนาจโลกขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้กันหลายพันรายการในอัตรา 10-25% ถึงปัจจุบันสงครามการค้าก็ยังไม่สงบลง มีผลให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ที่มีฐานผลิตในจีน ผู้ประกอบการจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ รวมถึงบริษัทข้ามชาติจากประเทศอื่นๆ มีความเสี่ยงในการทำธุรกิจ และเริ่มมีการย้ายฐานหรือพิจารณาย้ายฐานจากจีนไปประเทศอื่น ๆ เป็นระลอก ส่งผลห่วงโซ่อุปทาน(ซัพพลายเชน)ของโลก ทั้งการจัดหาสินค้า วัตถุดิบ และกระบวนการส่งสินค้าถึงมือลูกค้าเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่
ล่าสุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยใหม่ที่บริษัทข้ามชาติกำลังเล็งหาที่ปักฐานเพื่อลดความเสี่ยง(Supply Chain Disruption)จากฐานผลิตในจีน ซึ่งภูมิภาคอาเซียนถูกหมายตาเป็นอันดับต้นๆ ที่ต่างชาติจะย้ายฐานเข้ามา โดยตัวเลือกอันดับแรกๆ ประกอบ ด้วยเวียดนาม ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งหากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ถือเป็นโอกาสที่แต่ละประเทศต้องเร่งช่วงชิง
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นอกจากบีโอไอได้เตรียมมาตรการสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมมากมายเพื่อดึงดูดคลื่นการลงทุนระลอกใหม่ให้เกิดการลงทุนจริงในปี 2563-2564 โดยเล็งเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีโดยไม่รอให้โควิดจบแล้ว ยังเตรียมออกแคมเปญใหม่เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ด้านการลงทุนของไทยผ่านสื่อชั้นนำในต่างประเทศ ทั้งที่เป็นโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์, สื่อ online, สื่อโทรทัศน์ รวมทั้งงานสัมมนาหรือจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนต่างๆ เน้นกลุ่มประเทศเป้าหมายทั้งจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ยุโรปและสหรัฐฯ คาดจะได้เห็นภายใน 1 เดือนนับจากนี้
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การพิจารณาย้ายฐาน หรือการเข้ามาลงทุนในไทยในปัจจุบันต่างชาติจะพิจารณาและให้ความสำคัญใน 5 เรื่องแรก คือ 1.การป้องกันโรคติดต่อ 2.โลจิสติกส์ 3.ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ 4.แรงงานที่มีทักษะฝีมือ และ 5.สิทธิประโยชน์การลงทุน ขณะเดียวกันการพิจารณาย้ายฐานออกจากไทย จะพิจารณาจาก เรื่องหลักคือ 1.ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีในกรอบต่างๆ เทียบกับประเทศอื่นเพราะจะช่วยเรื่องแต้มต่อในการส่งออก 2.นโยบายรัฐบาลที่มีความต่อเนื่อง 3.แรงงานมีมากพอและค่าจ้างถูก และ 4.สิทธิประโยชน์การลงทุนเทียบกับประเทศอื่น
ปัจจุบันจุดได้เปรียบของไทยคือการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน การจัดการกับโควิด-19 ได้ดี และมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนจุดเสียเปรียบคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นในการดึงดูดการลงทุนไทยควรใช้การจัดการโรคระบาดได้ดีกว่าประเทศอื่นเป็นจุดขาย เน้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสร้างจุดขายในเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยในอุตสาหกรรมอาหาร
ขณะที่นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้ว่า สาธารณูปโภคไทยดีกว่าเวียดนาม และการคมนาคมและพัฒนาการติดต่อสื่อสารก็ดีกว่า แต่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์ เมื่อเทียบกับเวียดนามด่องแล้วไทยยังเสียเปรียบ นักลงทุนเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน หากมาลงทุนไทยต้องใช้เงินมากกว่าและส่งออกสินค้าก็ได้ผลตอบแทนต่ำกว่าเวียดนาม ดังนั้นเรื่องค่าเงินรัฐบาลต้องดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้ไทยเสียเปรียบ
หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563