“ซันสวีท” เปิดกลยุทธ์ปีหน้า อัตรากำไรสุทธิเพิ่มเป็นไม่ตํ่ากว่า 10% ขึ้นเฟส 2 สมาร์ทฟาร์มมิ่ง เพิ่มปริมาณและคุณภาพข้าวโพดหวาน หนุนสินค้าพรีเมียมโต ส่วนเงินไอพีโอช่วยลดดอกเบี้ย ขยายกำลังการผลิต
นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ที่อยู่ในอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานมา 20 ปี บริษัทมีผลผลิตสูงติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศไทย เปิดเผยว่า ซันสวีทเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) เพิ่มขึ้นทุกปี มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปลูก บริษัทได้ทดลองระบบสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ต่อยอดจากคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง สามารถวางแผนการผลิตได้ดีขึ้น ต้นทุนลดลง ได้ข้าวโพดที่มีคุณภาพ และผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าจากปกติ นำไปผลิตข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศพร้อมทาน และแช่แข็ง ที่มีมาร์จินสูงกว่าบรรจุกระป๋อง
[caption id="attachment_242873" align="aligncenter" width="503"]
องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN[/caption]
นอกจากนั้นบริษัทยังมีการลงทุนเครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 130 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท มาลงทุนเครื่องจักรขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวในส่วนข้าวโพดหวานแช่แข็ง และบริหารหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด 500 ล้านบาท ลดภาระดอกเบี้ยจ่าย พร้อมออกสินค้าใหม่ๆ ล่าสุดเพิ่งวางขายข้าวโพดหวานปิ้ง ในเซเว่นอีเลฟเว่นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี และยังมีการทดลองสินค้าใหม่ตลอดเวลา ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่หันมาบริโภคข้าวโพดหวานมากขึ้น
นายองอาจกล่าวว่า บริษัทมีการส่งออก 80% และขายในประเทศ 20% ในปีหน้าจะปรับสัดส่วนเป็น 75% และ 25% พร้อมขยายฐานลูกค้า ปัจจุบันมีลูกค้าต่างประเทศมากกว่า 300 รายในการกระจายสินค้าไปยัง 70 ประเทศทั่วโลก ยอดขายส่งออกประมาณ 50% อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ใช้เวลาในการหาตลาดมากว่า 20 ปี และส่งออกไปขายกว่า 10 ปี รับประกันเรื่องคุณภาพสินค้าของซันสวีทได้เป็นอย่างดี
ด้านผลประกอบการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า แนวโน้มจะยังคงดีต่อเนื่อง จากปีนี้ 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 111 ล้านบาท ใกล้เคียงกับที่ทำได้ทั้งปี 2559 ที่เริ่มออกสินค้าใหม่ ข้าวโพดหวานพร้อมทาน ทำให้กำไรเติบโตก้าวกระโดด จากปี 2558 ที่มีกำไรเพียง 20 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรสุทธิก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จาก 1.15% ในปี 2558 กระโดดขึ้นไป 6.46% ในปี 2559 และ 8.75% ในช่วง 9 เดือนปีนี้ ปีหน้าตั้งเป้ายอดขายเติบโต 10% รับออร์เดอร์มาแล้ว 6 เดือนตามกลยุทธ์ขายก่อนผลิต
“เราคิด เรื่องการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นมาตั้งแต่ปี 2553 คือเมื่อ 7 ปีก่อน บอกพนักงานให้รู้ และเตรียมความพร้อม ในการทำงานแบบมืออาชีพ และโปร่งใส พร้อมโอกาสทางธุรกิจ และเงินไอพีโอที่ระดมทุนมา จะได้นำไปคืนหนี้บ้าง แทนที่จะนำรายได้ที่เข้ามาเป็นเงินทุนหมุนเวียน ซื้อวัตถุดิบ คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) จะลดลงมาอยู่ที่ 1 เท่า หรือตํ่ากว่า 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.3 เท่า โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ฯ (APM) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ”นายองอาจ กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากบีโอไอ 2 ใบ นาน 5 ปี คือ ปรับปรุงเครื่องจักรลดต้นทุน ใช้สิทธิประโยชน์มาแล้ว 2 ปี และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มคือข้าวโพดแช่แข็งใช้มา 3 ปี ขณะนี้รอใบที่ 3 เพิ่มเครื่องจักรช่วยลดพลังงาน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,323 วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560