แบงก์กระเป๋าแฟบกำไรค้าเงิน9เดือนลดฮวบ

02 พ.ย. 2562 | 09:00 น.

 

ตลาดชี้แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศปรับลดต่อเนื่อง หลังธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ลดยกแผง ยกเว้น “ธนชาต” รั้งโวลุ่มโต สวนทางแบงก์ใหญ่-กลาง เตือนธุรกิจป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เหตุสถานการณ์บาทยังผันผวน

 

ธนาคารพาณิชย์ในระบบรายงานตัวเลขผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของปี 2562 และงวด 9 เดือน พบธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราเกือบทุกธนาคารหดตัว จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดยทิสโก้หดตัว 105.7% กรุงไทย 48.5% ไทยพาณิชย์ 42.9% เกียรตินาคิน 18.1% กรุงเทพ 14% กรุงศรี อยุธยา 4.3% ขณะที่ “ธนชาต” ค่ายเดียวโชว์โวลุ่มเพิ่ม 20.93% และ 110% 

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)รายงานว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าที่คาดการณ์จาก 31.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็น 31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่าขึ้น 3.8% นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2563 เงินบาทจะแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 30.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

แบงก์กระเป๋าแฟบกำไรค้าเงิน9เดือนลดฮวบ

นริศ สถาผลเดชา

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคาร ทหารไทย หรือทีเอ็มบีเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศยังปรับลดอย่างหนักหน่วง ซึ่งเป็นการปรับลดตามมูลค่าส่งออกและนำเข้า โดยหากเทียบมูลค่าส่งออกและนำเข้าช่วง 9 เดือนแรกปีนี้พบว่า โดยรวมหดตัว 2.9% โดยมูลค่าส่งออกหดตัว 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและมูลค่านำเข้าหดตัว 3.7% จึงส่งผลให้ปริมาณการทำธุรกรรมปริวรรตกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์หดตัวค่อนข้างมากกว่าช่วง 2-3 ปีที่แล้ว แม้ว่าปีก่อนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นก็ตาม 

ดังนั้นจากสัญญาณการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอลงย่อมกระทบปริมาณธุรกรรมปริวรรตและกระทบรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์พอสมควร โดยปกติส่วนแบ่งทางการตลาดรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ มีสัดส่วนอยู่ที่ 10-20% ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด

 

“ปีนี้ผู้ส่งออกระมัดระวังเป็นพิเศษในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน(Hedging)ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ตลาดคาดการณ์ว่า เงินบาทจะแข็งค่าขาเดียว ผู้นำเข้าจึงทำ Hedging น้อย ซึ่งแนวโน้มแม้เงินบาทจะได้รับการดูแลอย่างเข้มงวด โดยเคลื่อนไหวไม่หลุดกรอบที่ 30 บาท แต่ผู้ประกอบการควรมีการวางแผนทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า(Forward)เพื่อล็อกอัตราไว้ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า เพราะถ้าเงินบาทจะแข็งค่าต่อ ก็ไม่ต้องห่วง แต่อาจจะต้องแลกกับค่าธรรมเนียมในการทำ Hedging อยู่ที่ 0.09% หรือประมาณ 0.3% ของกำไร จึงอยู่ที่ผู้ประกอบการจะรับต้นทุนนี้ได้หรือไม่”

สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทที่ผ่านมาหลักๆ มาจากเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อเข้ามาควบรวมกิจการและไทยเกินดุลการค้า สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะปีนี้เงินบาทเคลื่อนไหวขาเดียวคือแข็งค่ากับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอ จึงมีโอกาสเกิด Market Collapsed แม้ตอนนี้คนปักใจเชื่อว่า เงินบาทจะแข็งค่า แต่ควรต้องมองทิศทางค่าเงินเผื่อไว้บ้าง นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่มีรายได้และรายจ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศควรบริหารจัดการให้สมดุลและอาจทำ Hedging เพียงบางส่วน ซึ่ง
ต้นทุนจะถูกลงอีก หรือเก็บเงินในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD)

 

แบงก์กระเป๋าแฟบกำไรค้าเงิน9เดือนลดฮวบ

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ในเดือนตุลาคมนี้ต้องจับตาสหรัฐฯ จะประกาศรายชื่อประเทศติดบัญชีบิดเบือนค่าเงิน หากไทยหลุดโผหรือปัญหาคลี่คลายคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะเข้าแทรกแซงค่าเงินหลังจากนี้ ซึ่งอาจจะเห็นเงินบาทกลับขาเป็นอ่อนค่า ขณะเดียวธปท.จะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกันยายนหรือไตรมาส
3 และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤศจิ กายนที่จะออกมาอาจจะตํ่ากว่า 1% ซึ่งถ้าตัวเลขเศรษฐกิจสะท้อนภาพเศรษฐกิจชะลอตัว นักลงทุนอาจจะคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้นนโยบายมากขึ้น 

 

ส่วนที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปลายเดือนนี้ ถ้าเฟดส่งสัญญาณจบรอบของการลดดอกเบี้ย ก็มีโอกาสจะเห็นดอลลาร์และเงินบาทกลับทิศ โดยซีไอเอ็มบีไทยประเมินเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าและมีโอกาสทะลุ 30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นเรื่องกระแสโลกด้วย และติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะซึมลากยาวหรือไม่

ขณะที่นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า ตลาดคาดว่า เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30-31 ตุลาคมนี้ โดยเดือนธันวาคมเฟดคงพยายามจะยืนดอกเบี้ยไว้ แต่หากเฟดยังลดดอกเบี้ยต่อเงินบาทจะแข็งค่าต่อไป ดังนั้นจึงต้องติดตามเฟดไปจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2563 หรือถึงเดือนมิถุนายนปีหน้าว่า เฟดจะยืนดอกเบี้ยได้หรือไม่

“ตอนนี้ให้มุมมองไกลไม่ได้ เพราะตลาดผันผวน แต่รอบเดือนตุลาคมเฟด น่าจะให้ความมั่นใจและยืนดอกเบี้ยเดือนธันวาคมซึ่งปีหน้าก็ขึ้นอยู่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากชะลอเฟดอาจจะลดดอกเบี้ยต่อ แต่หากจบการลดดอกเบี้ยครึ่งหลังปีหน้าอาจเห็นดอลลาร์กลับมาแข็งค่า”

 

หน้า19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,518 วันที่ 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562