แนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2563 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณ 80.0-81.5% ต่อจีดีพีในปี 2563 ขณะที่ประเด็นที่ต้องติดตามในช่วงหลังจากนี้ คงเป็นแนวทางการเข้าดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นโจทย์ท้าทายในภาวะที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว และมีความซับซ้อนตามพฤติกรรมและเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุให้ครัวเรือนแต่ละกลุ่มเป็นหนี้
จากผลสำรวจฯ ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ภาพรวมของครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) เฉลี่ยที่ 39.4% ของรายได้ต่อเดือน ขณะที่มีรายจ่ายในชีวิตประจำวันประมาณ 48% ของรายได้ต่อเดือน เท่ากับว่า เงินที่เหลือสำหรับการออม-ลงทุน หรือเก็บไว้เป็นกันชนยามฉุกเฉินจะมีสัดส่วนเพียง 12% ของรายได้เท่านั้น นอกจากนี้ ผู้กู้บางกลุ่มในผลสำรวจฯ มีภาระหนี้ที่สูงกว่าครัวเรือนโดยเฉลี่ยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม GenY และผู้กู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีสัดส่วน DSR อยู่ที่ 42.0% และ 42.7% ตามลำดับ ทั้งนี้ แม้ผลสำรวจฯ ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในรอบนี้ จะสามารถสะท้อนภาพสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ของผู้กู้-ครัวเรือนเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ข้อเท็จจริงที่ได้ก็มีความสอดคล้องสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในระดับภาพรวมทั้งประเทศ
และหากเจาะลึกพฤติกรรมการก่อหนี้ของกลุ่ม GenY ในผลสำรวจฯ พบว่า ประมาณ 47.8% ของ GenY ในผลสำรวจฯ มีหนี้เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน หรือ Clean Loan โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต (84%) และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (48%) ซึ่งน่าจะสะท้อนพฤติกรรมการก่อหนี้เพื่อการใช้จ่าย-อุปโภคบริโภคในระยะสั้น ซึ่งแม้วงเงินสินเชื่อ-หนี้ประเภทนี้อาจจะไม่สูง เพราะไม่ใช่เป็นหนี้ก้อนใหญ่เพื่อซื้อสินทรัพย์ แต่ก็เป็นสาเหตุให้ผู้กู้มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลง เพราะมีภาระผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้น
อ่านผลสำรวจฉบับเต็มคลิกที่นี่ หนี้ครัวเรือน