หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2563 มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้กระทรวงการคลังลดการถือหุ้นการบินไทยตํ่ากว่า 50% พร้อมกับยื่นฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย ตามมาตรา 90/12 ทันทีทันใดเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ตกลงขายหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) (THAI) ให้กับกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง จำนวน 69,193,870 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.17% ที่หุ้นละ 4.03 บาท รวมมูลค่า 278.85 ล้านบาท ส่งผลให้กระทรวงการคลัง ลดสัดส่วนการถือหุ้นการบินไทยจาก 51.03% เหลือ 47.86% ทำให้การบินไทยออกจาการเป็นรัฐวิสาหกิจจอย่างสมบูรณ์
การซื้อขายในครั้งนี้ มีรายงานว่ากระทรวงการคลังขาดทุนประมาณ 700 ล้านบาท เพราะมีต้นทุนต่อหุ้นอยู่ที่ 14 บาท ในขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ 4.50- 4.90 บาท ทั้งที่ว่ากันตามความจริง ก็ไม่ต่างกับการโยกหุ้นจากกระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวา เพราะกระทรวงการคลังก็ถือหน่วยลงทุนในกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง อยู่ถึง 30%
43 ปีคลังใส่เงินเพิ่มทุน"การบินไทย" เท่าไร
กระทรวงการคลัง เข้าถือหุ้นใน"การบินไทย" ภายหลังจากที่บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด และสายการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ ซิสเต็ม หรือ เอส เอ เอส ได้ร่วมลงทุนก่อตั้งบริษัทการบินไทยในปี 2503 โดยเดินอากาศไทยถือหุ้น 70% และสายการบินสแกนดิเนเวียน ฯถือหุ้น 30% จนเมื่อปี 2520 สายการบินสแกนดิเนเวียน ฯ ได้ยกเลิกสัญญาร่วมทุนการก่อตั้งบริษัท ฯ บริษัทเดินอากาศไทย จึงซื้อหุ้นทั้งหมดคืนตามมติคณะรัฐมนตรีและมอบโอนหุ้นที่ซื้อมาให้กระทรวงการคลัง
จนเมื่อปี 2534 บริษัทฯ ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2534 สร้างความฮือฮาในขณะนั้น เพราะได้รับความสนใจจากนักลงทุนในการจองซื้อหุ้นการบินไทยที่ราคาไอพีโอ 60 บาท อย่างล้นหลามถึงขั้นต้องแย่งซื้อโดยการจับสลาก
บริษัทได้ทำการแปลงกำไรสะสมให้เป็นหุ้นเพิ่มทุน ทำให้มีทุนจดทะเบียนเขณะนั้นป็น13,000 ล้านบาท และทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนใหม่อีกจำนวน 3,000 ล้านบาท รวมเป็นทุนจดทะเบียน 16,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง ถือหุ้นใหญ่ 79.5%
ต่อมาในปี 2546 กระทรวงการคลังได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นการบินไทย จากการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 442.75 ล้านหุ้น แบ่งเป็นการเสนอขายหุ้นจากการเพิ่มทุน 285,000,000 หุ้น และเป็นหุ้นเดิมของกระทรวงการคลัง 157,750,000 หุ้น เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปลงทุนในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่งผลให้กระทรวงการคลังถือหุ้นการบินไทยเหลือ 54.20% มาในช่วงปี 2547-2549 บริษัทได้จัดโครงการจัดสรรหลักทรัพย์ให้พนักงาน (Employee Securities Option Plan) นำหุ้นออกขายให้กับพนักงาน 13,896,150 หุ้น ในราคาหุ้นละ 15 บาท และขายให้พนักงานที่ถือใบสำคัญแสดงสิทธิ และตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา กระทรวงการคลังถือหุ้นในการบินไทย เหลือเพียง 51.03% หรือจำนวน 866,997,841 หุ้น
เพิ่มทุนปี 53 ใส่เงินกว่า 7,600 ล้านบาท
การบินไทยหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการเพิ่มทุนก็คือในปี 2553 ในยุคที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นดีดีการบินไทย เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการบินไทย จากผลประกอบการที่ดีกว่าปีที่ผ่านๆมา ( ปี 53 บริษัทมีกำไรสุทธิถึง15,350 ล้านบาท พลิกจากที่เคยขาดทุนในปี 51 ถึง 21,314 ล้านบาท ) โดยได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 483.87 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 31 บาท เป็นวงเงินระดมทุนราว 15,000 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 246.93 ล้านหุ้น ให้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นที่ 51.03% นอกจากนั้นยังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 221.83 ล้านหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ (ยกเว้นกระทรวงการคลัง) ในอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 0.2667 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ และเสนอขายให้ผู้จองซื้อรายย่อยจำนวน 15.11 ล้านหุ้น
การเพิ่มทุนรอบนี้ กระทรวงการคลังใส่เงินเป็นจำนวน 7,655 ล้านบาท ถือเป็นการเพิ่มทุนล่าสุด แม้ว่าจะมีข่าวตามมาว่าในปี 61 รัฐบาลพยายามจะให้การบินไทยเพิ่มทุนราว 2 หมื่นล้านบาทแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งหากถัวฉลี่ยต้นทุนของกระทรวงการคลังที่ถือหุ้นการบินไทยที่หุ้นละ 14 บาท (ต้นทุนเฉลี่ยก่อนหน้าปี 53 ที่หุ้นละประมาณ 9 บาท )คาดว่ากระทรวงการคลังจะใช้เงินไม่น้อยกว่า 15,600 ล้านบาท ในการถือหุ้น 51.03% ในจำนวน 1,113,931,061หุ้น ยังไม่นับรวมเงินที่กระทรวงการคลังใส่ในการบินไทย ที่ถืออยู่ในกองทุนวายุภักษ์ ( 30%)และในธนาคารออมสิน ( 16.67% )
มูลค่าหุ้นการบินไทย ทรุดต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ผลประกอบการการบินไทยที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเพียงปี 2559 ที่บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 15.14 ล้านบาท ส่วนปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 2,107.35 ล้านบาท, ปี 2561 ขาดทุน 11,625.17 ล้านบาท และปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 12,042.41 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้นทรุดตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าหุ้นที่กระทรวงการคลังถือ จากสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 25,286 ล้านบาท และล่าสุด ( 22 พ.ค. 63) มีมูลค่าลดลงเหลือ 5,458 ล้านบาท (ตารางประกอบ) นอกจากนี้การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย ซึ่งจะต้องลดทุนตัดส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนจะไปลดหนี้เจ้าหนี้ แน่นอนว่ากระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่การบินไทย ย่อมได้รับผลกระทบจากมูลค่าที่ลดลงไปอีก..
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอนหนึ่งว่า หลังการตัดขายหุ้นการบินไทยที่ถือ 3.17% ให้กับกองทุนวายุภักษ์ ..."เชื่อว่าหากแผนฟื้นฟูการบินไทยมีประสิทธิภาพ จะทำให้ราคาหุ้นการบินไทยในอนาคตปรับตัวสูขึ้น เป็นหุ้นที่มีความคุ้มค่า"
แต่ท้ายสุดการลงทุนจะคุ้มค่ากลับเป็นหุ้นที่มีอนาคตหรือไม่ ก็ขึ้นกับว่าการบินไทยจะฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลา(นาน )ในการพิสูจน์ !