รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ที่จะมีการยื่นฟ้องศาลล้มละลาย ส่งผลให้สถาบันการเงินของรัฐหลายแห่ง ที่เป็นเจ้าหนี้ของการบินไทยได้รับผลกระทบและตั้งสำรองหนี้เผื่อจะสูญรวมกันเกินมากกว่าหมื่นล้านบาท เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์)
“ตามระเบียบการจัดชั้นและการกันสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรฐานทางบัญชีไอเอฟอาร์เอส 9 เมื่อการบินไทยมีการยื่นล้มละลายผ่านศาลฯแล้วจะเข้าข่ายเป็นหนี้สูญ และธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับการบินไทยจะต้องมีการตั้งสำรองทั้งหมดเต็มจำนวนมาก โดยเฉพาะธนาคารรัฐซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้กลุ่มใหญ่ที่ให้กู้ไปจำนวนมาก เช่น ธนาคารออมสินให้กู้ไป 3,500 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยให้กู้ไปกว่า 6,000 ล้านบาท รวมถึงเอ็กซิมแบงก์ที่เข้าไปปล่อยกู้อีกเล็กน้อย ก็ต้องมีการตั้งสำรองหนี้สูญด้วยในไตรมาสสอง นอกจากนี้ยังมีธนาคารเอกชนอีกหลายแห่งที่จะได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองของการบินไทยเช่นกัน”
รายงานข่าวจากธนาคารออมสิน แจ้งว่า ธนาคารได้เตรียมเงินพร้อมตั้งสำรองหนี้ของการบินไทยไว้แล้ว 3,500 ล้านบาท ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อสถานะของธนาคารแต่อย่างใด โดยที่ผ่านมาธนาคารได้พิจารณาปล่อยกู้ให้การบินไทย ตามนโยบายรัฐในการช่วยเหลือหน่วยงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกัน อีกทั้งออมสินเองก็เป็นผู้ถือหุ้นของการบินไทยด้วย ดังนั้นมีความจำเป็นที่จะปล่อยสินเชื่อเข้าไปช่วยเหลือสภาพคล่องทางธุรกิจให้
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้ที่ปล่อยกู้ให้กับ การบินไทยไปแล้ว ส่วนหนี้และการตั้งสำรองเป็นจำนวนเท่าไรคงบอกไม่ได้เพราะเป็นความลับของลูกค้า สำหรับกรณีหุ้นกู้ของการบินไทยขณะนี้ต้องรอดูแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทก่อนว่าจะออกมาอย่างไร
“เราตั้งสำรองหนี้การบินไทยแล้ว แต่จะปล่อยกู้ให้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องหรือไม่คงต้องรอดูแผนของเขาก่อนถึงจะพิจารณาได้”นายผยง กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 4บอร์ดใหม่ "การบินไทย" เช็กประวัติ เจ๋งแค่ไหน ใต้ภารกิจฟื้นฟูกิจการ
"การบินไทย" พ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ต้องชงเรื่องเข้าครม.
อุ้ม"การบินไทย" คลังใส่เงินไปเท่าไร
"การบินไทย" ฉุดกำไร KTB คาดอาจตั้งสำรองเพิ่มหมื่นล้าน