ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาระบุว่า จะตรวจสอบการทำธุรกรรมของกลุ่มผู้ค้าทองคำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งพิจารณาแนวทางดำเนินมาตรการต่างเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน หลังจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคในช่วง 2สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ของไทยดีกว่าอีกหลายประเทศ ประกอบกับราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้น ยังมีส่วนสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย
แหล่งข่าวจากตลาดเงินระบุุว่า ข้อสังเกตุของธปท.จากราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้นสะท้อน ว่าธปท.เห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น หากต้องการดัดหลังกลุ่มผู้ค้าทองคำก็สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะในอดีตธปท.เคยเพิ่มความยุ่งยากในการทำธุรกรรมทองคำ โดยให้รายงานการทำธุรกรรม เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ หากพบว่ามีการบิดเบือนตัวเลข ธปท. สามารถตรวขสอบผ่านธนาคารได้ เพราะดีลเลอร์หรือห้องค้าเงินจะมีคำสั่งซื้อหรือขายทองคำ (ออร์เดอร์) เป็นหลักฐาน
นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกล บอลมาร์เก็ตส์ บมจ.ธนาคาร กรุงศรีอยุธยาเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น สะท้อนการควบคุมการติดเชื้อโควิด-19 ที่ดีขึ้น เพราะในสหรัฐฯฯเอง ยังไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ แถมยังเกิดจลาจลขึ้นด้วย ทำให้เห็นดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลทำให้สกุลเงินในกลุ่มอาเซียนแข็งค่าขึ้น ส่วนดุลการค้าของไทยที่ยังเป็นบวก อาจเป็นผลให้เงินบาทไม่อ่อนค่าต่อเนื่องได้
“หากดอกเบี้ยนโยบายยืนอยู่ที่ 0.50%ต่อปี อาจไม่มีปัจจัยเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งทั้งปีเงินบาทไม่น่าจะแข็งเกิน 31.00 บาท/ดอลลาร์ โดยต้องจับตาเงินทุนไหลเข้าด้วย และไม่น่าจะอ่อนค่าเกิน 32.50บาท เพราะยังไม่เห็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินบาทอ่อน ยกเว้นเรื่องมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจไม่สัมฤทธิ์ผลทำให้จีดีพีติดลบไปเรื่อย ส่วนตัวมองทั้งปีจีดีพีไม่น่าจะติดลบเกินกว่า 5%”
นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคาร ทหารไทยหรือ TMB Analytics กล่าวว่า การควบคุมโควิด-19 ที่ดีขึ้นของไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาค จึงเห็นการแข็งค่าเงินบาทราว 1.92% ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สะท้อนภาพรวมว่า ไทยจะฟื้นกลับมาได้เร็ว แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า เดือนเมษายนมีปัจจัยทองคำเข้ามามีส่วนให้บาทแข็งด้วย จากยอดส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึง 1,103% จากช่วงปกติปีที่แล้วขยายตัวเพียง 5% ต่อเดือน ทำให้มีเงินไหลเข้า ซึ่งสอดคล้องกับที่ธปท.ออกมาพูดเรื่องส่งอออกทองคำ
“บาทที่แข็งค่าขึ้นจะกดดันความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบการไทยเหนื่อย ถ้าการส่งออกหรือการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นแต่มองไปข้างหน้า เงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าทะลุ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ จากทิศทางดุลบัญชีเดินสะพัดที่เริ่มขาดดุลลดลง โดยเห็นได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนเมษายน ขาดดุล 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯฯจากเดิมที่เคยขาดดุลค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงมีโอกาสจะเห็นเงินบาทกลับมาอ่อนค่าได้เพราะแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทจะปรับลดลง”
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ระบุว่า แนวโน้มเงินบาทถูกขับเคลื่อนด้วย 2 ปัจจัยคือการนำเข้าและการเมืองในสหรัฐฯ โดยการนำเข้าที่หายไปส่วนหนึ่งจากราคานํ้ามันที่ลดลง ขณะที่การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ ตัวเลขไม่ได้ลดลงส่วนปัจจัยการเมือง สหรัฐฯในมุมมองต่อเศรษฐกิจขณะนี้ มีผลต่อความเชื่อมั่น ซึ่งเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าเร็วและเกิดจราจล ในช่วงที่ยุโรปกำลังฟื้นตัว ทำให้สกุลเงินยูโรแข็งค่า
ส่วนทิศทางเงินบาท ส่วนตัวยังมองเงินบาทต่อดอลลาร์เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31-31.50 บาท แต่หากทุกคนกังวลเรื่องการเมือง แนวโน้มอาจจะเห็นค่าเงินบาทต่อดอลลาร์เคลื่อนไหว 30.00 บาทต่อดอลลาร์เหมือนปลายปีก่อน ซึ่งในความจริงมีความเสี่ยงที่บาทจะแข็งค่าขึ้น และอย่าตกใจถ้า จะเห็นแข็งค่าแตะ 30.00 บาทเท่ากับแข็งค่า 3% ซึ่งใช้เวลาครึ่งปี หากเทียบกับตลาดหุ้น ที่การผันผวน 3% อาจใช้เวลาเพียง 1-2 วัน
“ไตรมาส3 เป็นจุดที่ต้องระวัง เพราะมีความเป็นไปได้ที่ตลาดจะมีการขายทำกำไร ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ถ้าตลาดพักฐานหรือปรับตัวลง 5-10% ตอนแรกคิดว่า ดอลลาร์จะแข็งและบาทมีโอกาสอ่อนค่า แต่ถ้าเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ ดอลลาร์อาจจะอ่อนฮวบก็ได้ ซึ่งเดือนนี้อาจเห็นบาทแข็งแตะ 31.5 บาทตั้งแต่เดือนนี้ หากการเมืองสหรัฐฯไม่ดีขึ้นและ้ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์่ได้ ช่วงปลายปีนี้อาจจะเห็นเงินบาทต่อดอลลาร์แข็งค่าเป็นตัวเลขเดิมที่ 30 บาท”
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน-ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผ้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า 2 ปัจจัยกดดันบาทชั่วคราวคือ ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าและตัวเลขส่งออกที่ยังเป็นบวก แต่ระยะข้างหน้าปัจจัยพื้นฐานจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาพักเงิน ไม่ว่าจะเป็นข่าวดีจากการควบคุมโควิด-19 หรือดุลบัญชีเดินสะพัด โดยประเมินสิ้นปี เงินบาทจะอยู่ที่ 31.50-32 บาท/ดอลลาร์ แต่ระหว่างทางอาจจะมีความผันผวนของค่าเงินบาทบ้าง
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,580 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563