คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 63 เห็นชอบ "กลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ" ตาม พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท หรือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอ
และหลังจากครม.มีมตืแล้วจะมีการแจ้ง "กลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ" ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงาน ป.ป.ท. รายงานต่อที่ประชุมครม. ว่า โดยที่ได้มีการประกาศใช้ "พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563" หรือ พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ลงวันที่ 19 เมษายน 2563 ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินหรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลมีผลบังคับใช้แล้ว โดยกำหนดให้ใช้จ่ายเงินกู้ในแผนงานหรือโครงการ ดังนี้
1.แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 45,000 ล้านบาท
2.แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 555,000 ล้านบาท
3.แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 400,000 ล้านบาท
ป.ป.ท. รายงานโดยอ้างอิง ข้อมูลว่า "องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD)" ออกแถลงการณ์ขอให้ประเทศสมาชิก OECD มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้ทุกประเทศมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงการทุจริตในการใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
โดยในห้วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในไทยนั้น ปรากฏข่าวว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดและช่วยเหลือประชาชนอย่างไม่โปร่งใส
สำนักงาน ป.ป.ท. จึงร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังในการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. ซึ่งพบข้อสังเกตเบื้องต้นว่า อปท. บางแห่งยังมีการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไรตามหลักเกณฑ์หรือระเบียบของทางราชการ และส่อไปในการกระทำที่เป็นการทุจริตและประพฤติมิชอบ
"สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะกลไกของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และในฐานะฝ่ายเลขานุการของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคสังคม ภาคเอกชน และประชาชนในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อคณะรัฐมนตรี จึงได้เสนอกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ด้าน ดังนี้
1. การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส กำหนดให้
- หน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงาน/โครงการต้องเปิดเผยข้อมูลแผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและความคืบหน้าในการดำเนินงาน เพื่อให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน ร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตทางเว็บไซต์และจุดบริการข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง และทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (ภาษีไปไหน) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)
- ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริต หรือปัญหาความเดือดร้อนในทุกพื้นที่ที่มีการใช้งบประมาณตามแผนงาน/โครงการ
- เปิดช่องทางการรับแจ้งเบาะแสการทุจริตของประชาชนที่เกิดจากการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ และเชื่อมโยงระบบรับเรื่องร้องเรียนของทุกหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางหรือทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐของ สพร. โดยให้ ศอตช. เป็นศูนย์กลางประสานการดำเนินงาน
2. การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต
- ก่อนการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบทำการประเมินและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต เป็นกลไกกำกับและขับเคลื่อน
- ให้ ศอตช. ทำการวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการที่มีความเสี่ยงการทุจริตสูง เพื่อแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีการทุจริต
- ให้ ศอตช. เผยแพร่ข้อมูลและสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความคุ้มค่าและโปร่งใส
3. การตรวจสอบ
- ให้ ศอตช. ทำการตรวจสอบการดำเนินโครงการเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือมีเรื่องร้องเรียน เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานหรือข้อมูลว่ามีเหตุแห่งการทุจริตหรือไม่ ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการดำเนินโครงการ
- เมื่อมีเรื่องร้องเรียนหรือมีเบาะแสการทุจริตให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริง พร้อมข้อมูลให้ ศอตช.
4. การดำเนินมาตรการทางปกครองวินัย และอาญา
- เมื่อมีข้อร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแสการทุจริต ให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการทางปกครอง วินัย และอาญากับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
- ให้สำนักงาน ป.ป.ท. ทำการติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี (28 มกราคม 2563) การรับรายงานผลดำเนินการกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต และรายงานต่อ ศอตช. เพื่อดำเนินการต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อัพเดท "พรก.เงินกู้" และ งบประมาณ ฟื้นฟูประเทศ หลังวิกฤติโควิด-19
ด้าน ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตาม พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต การตรวจสอบ การดำเนินมาตรการทางปกครองวินัยและอาญา
"หวังดึงภาคประชาชน เอกชน เป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสการทุจริต ผ่านเว็บไซต์และแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้าตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ https://govspending.data.go.th/ หรือ ค้นหาได้ผ่านคำสำคัญว่า "ภาษีไปไหน"" นางนฤมล กล่าว