ฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์แม้จะยังแข็งแกร่ง โดยมีเงินกองทุน ณ เดือนเมษายน 2563 จำนวน 2,616 พันล้านบาท หรือมีอัตราเงินกองต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) สูงถึง 18.9% สูงกว่าเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ 11.0% แต่จากสถานการณ์ผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจที่ยังเสี่ยงสูง การขยายตัวของเศรษฐกิจที่เคยคาดว่าจะหดตัว 5-6% (สภาพัฒน์ ) แต่เมื่อมองแนวโน้มไตรมาส 3 และ 4 หลังรัฐบาลได้ยกเลิกเคอร์ฟิวและปลดล็อกดาวน์ระยะ 4 นักเศรษฐศาสตร์ คาดกันว่าเศรษฐกิจไทยอาจทรุดกว่าที่คาด และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจปีนี้จะหดลึก -10%
ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) มีหนังสือสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ งดการจ่ายปันผลและงดซื้อหุ้นคืน โดยนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าธปท. ชี้แจงว่าเพื่อเป็นการการรักษาภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงิน ซึ่งภูมิคุ้มกันสำคัญมากของธนาคารพาณิชย์ คือระดับเงินกองทุน ที่เป็นกันชนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้เงินกองทุนจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง และเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูอย่างเต็มที่
"ในระยะข้างหน้าที่เรายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง เราไม่ควร “การ์ดตก” ควรจะรักษาระดับเงินกองทุน หรือ “กันชน” ของธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” เป็นมาตรการเพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ “การ์ดตก” ให้รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งต่อเนื่องจนกว่าจะจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ได้ชัดเจนขึ้น"
สอดคล้องกับนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ธนาคารพาณิชย์จะรักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางของธปท.ยังสอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ที่มองว่าธนาคารพาณิชย์ควรให้น้ำหนักกับการสะสมทุนให้เข้มแข็งเพื่อรองรับเหตุการณ์เสี่ยงในภาวะวิกฤตระดับโลกในปัจจุบัน และเพื่อให้สามารถทำหน้าที่หลักในการให้สินเชื่อกับภาคธุรกิจและครัวเรือน และรับมือกับภาระการตั้งสำรองสำหรับหนี้ด้อยคุณภาพที่จะเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ IMF ยังมองว่าทางเลือกแนวทางดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุนผ่านผลตอบแทนที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ด้านแหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ"วา แม้ว่าภาครัฐจะปลดล็อกเฟส 4 แต่ใช่ว่าธุรกิจจะกลับมาดำเนินได้ตามปกติ เช่น "ธุรกิจโรงแรม"หลังหยุดดำเนินการไปในช่วง 3 เดือน หลายแห่งต้องปิดกิจการ-ประกาศขายซึ่งจะเห็นมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ขณะที่ธนาคารเองมีแนวโน้มต้องเผชิญกับปัญหาคุณภาพที่เพิ่มขึ้น จากระดับหนี้ NPL ต่อสินเชื่อรวมปัจจุบันที่อยู่ระดับ 3.05% เฉพาะหนี้ "การบินไทย" ทำให้สถาบันการเงินต้องสำรองหนี้กว่าหมื่นล้านบาท ฯลฯ
หรือสรุปก็คือธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมความพร้อม "เงินกองทุน"เพื่อสร้างกันชนที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากนี้คือ 1.รองรับธุรกิจที่ต่างมุ่งหน้ามาใช้เงินกู้ธนาคารสร้างสภาพคล่อง 2. รองรับมาตรการของธปท.ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ - เอสเอ็มอี และรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และ 3. เป็นกันชนสำหรับหนี้ที่มีโอกาสเป็น NPL
"การสั่งห้ามจ่ายเงินปันผล ถือว่าเข้าทางแบงก์ เพราะหากจะให้แบงก์งดจ่ายเสียเอง จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ แบงก์จะถูกมองว่ากำลังมีปัญหา ผู้ถือหุ้นอาจอ่อนไหวเกิดการเทขาย นอกจากนี้หากแบงก์จ่ายปันผลออกไป หากต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องไปกู้ธปท.จะเสียอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตลาดมาก ซึ่งธปท.เองก็ไม่อยากให้แบงก์มาเป็นภาระ ในการที่ต้องใส่เงินเข้าระบบ ดังนั้นการที่ธปท.ประกาศสั่งห้ามจ่ายปันผล จึงเป็นความชอบธรรมที่แบงก์ต้องปฏิบัติตาม ถือเป็นมาตรการป้องกันรับมือผลกระทบจากโควิด - 19 ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนสูง และเป็นผลดีต่อแบงก์เองในการสะสมทุนสร้างกันชน " แหล่งข่าว กล่าว
ปันผลแบงก์ สร้างกันชน 7 หมื่นล้าน
รายงานข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ ฯ "ฐานเศรษฐกิจ"พบว่าธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง จ่ายเงินปันผลงวดปี 2562 (รอบผลประกอบการ ม.ค.- ธ.ค. 2562 ) รวมทั้งสิ้น 84,858 ล้านบาท ( รวมธ.ธนชาต 6,758 ลบ. จ่ายหุ้นละ 5.18 บาท เป็นปันผลพิเศษหุ้นละ 4.00 บาท ) และประมาณการเงินปันผลระหว่างกาลปี 63 (ผลประกอบการเดือนม.ค.- มิ.ย.63 ) ที่ปกติจะจ่ายในช่วงเดือนก.ย. มี 7 ธนาคารที่จ่ายคือ ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงศรี , ธนาคารเกียรตินาคิน ,ธนาคารทหารไทย และธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์ รวมกันประมาณ 17,900 ล้านบาท (ตารางประกอบ )
อย่างไรก็ดีจากการสำรวจของ บลูมเบิร์ก ประเมินว่าธนาคารพาณิชย์ไทย 9 แห่งจะจ่ายเงินปันผลงวดปี 2563 รวมกันประมาณ 68,000 ล้านบาท จากกำไรสุทธิของธนาคารที่คาดจะทำได้ปีนี้ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งหมายความหากธนาคารงดจ่ายปันผลระหว่างกาล ไปทบยอดงวดรายปี ( รอบผลประกอบการเดือนก.ค.- ธ.ค. 63 ) ที่จะจ่ายในช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. 2564 นั่นหมายความ ธนาคารพาณิชย์จะมีกันชนเพิ่มจากเงินปันผลที่ยังไม่ได้จ่ายออกไป 68,000 - 70,000 ล้านบาทในช่วง 1 ปีจากนี้ ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันใหักับระบบสถาบันการเงินในระดับหนึ่ง