มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว “เราเที่ยวด้วยกัน” กรอบวงเงินรวม 22,400 ล้านบาท เริ่มเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 63 โดยรัฐให้การสนับสนุนที่พักในอัตราร้อยละ40 ของค่าที่พัก แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจะได้รับ E-Voucher คืนละ 600 บาท (สูงสุด 5 คืน ) พร้อมสนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินในอัตราร้อยละ 40 ของค่าบัตรโดยสาร แต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อที่นั่ง โดยจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนได้วันพรุ่งนี้ (15 ก.ค. )และเดินทางท่องเที่ยวได้ในวันที่ 30 ก.ค.นี้
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่ามาตรการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ไม่ได้มากนัก เพราะกลุ่มคนที่พักโรงแรมจะมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1.คนไทย จะพักหรือกระจุกตัวเฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น 2. กลุ่มจัดสัมมนาในวันเสาร์-อาทิตย์ กลุ่มนี้ยังเป็นศูนย์ และ 3 นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่และกระจายการท่องเที่ยวแต่วันนี้ยังปิดประเทศ ทำให้มาตรการนี้ช่วยได้แต่เม็ดเงินไม่ได้ผลมาก เพราะคนไทยโดยปกติจะไม่พักโรงแรมในกรุงเทพอยู่แล้ว ส่วนโรงแรมในต่างจังหวัดจะเน้นชาวต่างชาติแต่ขณะนี้ยังไม่มีนักท่องเที่ยว
ข่าวเกี่ยวข้อง
"เที่ยวปันสุข" ททท. บูม 3 โครงการใหญ่ ต่อยอด 3 แพ็คเกจกระตุ้นท่องเที่ยว
เปิดแล้ว “www.เราเที่ยวด้วยกัน.com” วิธี “ลงทะเบียน” รับสิทธิ์ เช็กได้ที่นี่
"เราเที่ยวด้วยกัน" คึกคัก "สายการบิน" เปิดศึกจัดเต็มโปรโมชัน
"ราคาห้องพักโรงแรมวันนี้ก็ลดมากกว่าครึ่งอยู่แล้ว อย่างที่เปิดดู "อโกด้า"โรงแรมดัง ๆในกรุงเทพต่อคืนจาก 6,000 บาทลดเหลือแค่ 2,000 บาท ถูกขนาดนี้ยังไม่มีคนไปพักเลยเพราะคนไม่มีอารมณ์จะไปเที่ยว ที่เห็นวันหยุดรถติดเพราะคนกลับบ้าน หลังจากที่คลายล็อกให้คนเดินทางได้ "
ปัจจัยสำคัญคือ สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้คนไม่กล้าจับจ่าย บริษัท/กิจการปิดตัวกันมาก และไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะปิดยาวไปถึงสิ้นปี เนื่องจากเข้าใกล้ฤดูหนาวเชื้อไวรัสโควิดมีโอกาสกลับมาแพร่ระบาด และกลุ่มเป้าหมายการท่องเที่ยวก็คือ"ครอบครัว" คนไม่กล้าเสี่ยงจะนำผู้สูงอายุไปเที่ยวเพราะหวั่นติดเชื้อ อีกทั้งยังเป็นช่วงเปิดเทอม จังหวะไม่เอื้อต่อมาตรการนี้
ทั้งนี้บล.เคทีบี ฯ ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว (โรงแรม,สนามบิน และสายการบิน) ต่ำกว่าตลาด (Underweight) มองแนวโน้มอีก 2 ไตรมาสก็ยังไม่น่าดีขึ้น
"แพกเกจ"เราเที่ยวด้วยกัน" ไม่ได้เป็นประโยชน์กับกลุ่มโรงแรมอย่างที่กล่าวข้างต้น ส่วนการลดค่าตั๋วโดยสารลง "40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท" กลุ่มสายการบินในประเทศได้อานิสงส์ แต่ไม่มากตราบใดที่คนยังไม่เที่ยวหรือเข้าพักโรงแรมน้อย ต้องไปลุ้นเอาเรื่องการเดินทางในประเทศ หุ้นกลุ่มนี้ได้แก่ AAV (บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น ) ส่วน AOT (บมจ.ท่าอากาศยานไทย ) ยังไม่ดีขึ้น ถูกกระทบทั้งจากรายได้นักเดินทางที่หาย และรายได้ส่วนแบ่งจากคิงเพาเวอร์ลดลง
บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มาตรการ "เราเที่ยวด้วยกัน" สร้างผลกระทบค่อนข้างจำกัด เพราะขนาดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้น 22,400 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 2% ของมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวในประเทศที่ 1 ล้านล้านบาท และคิดเป็นเพียง 0.7%ของมูลค่าการท่องเที่ยวทั้งหมดในไทยที่ 3 ล้านล้านบาท ในอีกแง่หนึ่งหากมองอัตราค่าห้องเฉลี่ยของสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศที่ 2-3 คืนต่อคน เราจะเห็นการท่องเที่ยวเพียง 2 ล้านรอบหรือเพียง 1% ของการท่องเที่ยวในประเทศ ( คำนวณจาก 5 ล้านคืน room night) เทียบกับการท่องเที่ยว 166.8 ล้านรอบในปี 2562
บล.กรุงศรี คงมุมมองเป็นกลาง สำหรับหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว มองว่ามาตรการ"เราเที่ยวด้วยกัน" เป็นหนึ่งในแนวโน้มที่ดีจากรัฐบาล และคาดหวังว่ารัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมอีก สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส4/63 จนถึงปี 2564 จากการที่เที่ยวบินระหว่างประเทศอาจจะสามารถกลับมาบินได้ (เช่น มาตรการฟรีวีซ่า)